‘สกลธี’ ลั่นห้ามติด ‘ป้ายหาเสียง’ ในกรุงทุกกรณี เผยเอกชนค้างค่าเช่า200ล. สั่งเขตรื้อทิ้ง

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมกรณีการปลดแผ่นป้ายโฆษณาที่ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว และการรื้อย้ายตู้โทรศัทพ์สาธารณะที่ผิดกฎหมาย ว่า ที่ผ่านมา กทม.ได้กำชับให้ทุกสำนักงานเขตดำเนินการรื้อถอนอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นป้ายโฆษณาอสังหาริมทรัพย์ โดยมีการรื้อและทำลายไปแล้วกว่า 50,000 ป้าย และได้รับเงินค่าปรับประมาณ 3 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิติดตั้งป้ายเสาสูงของ กทม. จำนวน 1,170 ป้าย เริ่มสัญญาตั้งแต่ปี 2555 แต่เมื่อต้นปี 2561 บริษัทหยุดจ่ายเงินค่าชำระค่าตอบแทนให้ กทม.จนถึงปัจจุบัน มียอดเงินค้างชำระกว่า 200 ล้านบาท กทม.จำเป็นต้องทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและให้บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ฯ หยุดติดตั้งภาพโฆษณา พร้อมรื้อถอนทรัพย์สิน ถอดภาพโฆษณาออกทางการค้าออกจากป้ายทั้งหมดที่กระจายตามพื้นที่ 50 เขต ให้แล้วเสร็จ จากนั้น กทม.จะเข้าดำเนินการรื้อถอนเอง ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป โดยจะยกเว้นการรื้อถอนโครงสร้างป้าย เนื่องจากเป็นทรัพย์สินของ กทม. รวมถึงให้เจ้าพนักงานพิจารณาจัดเก็บป้ายโฆษณาที่บดบังวิสัยทัศน์ของประชาชนผู้ใช้รถด้วย

“ทั้งนี้ ได้มอบหมายสำนักงานกฎหมายและคดี ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับบริษัทไปแล้ว เพราะทางบริษัทเคยชี้แจงว่า มีปัญหาการเงินภายในบริษัท จึงไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาได้ เป็นเวลากว่า 5 เดือน แต่ กทม.พบว่าบริษัทยังคงใช้ประโยชน์จากป้ายโฆษณาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีป้ายหาเสียงทางการเมือง ระหว่างนี้ กทม.จะไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองนำมาป้ายทุกชนิดมาติดตั้งตามพื้นที่ต่างๆ จนกว่าพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งจะประกาศบังคับใช้ โดยทุกป้ายจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนขออนุญาตจาก กทม.และเสียภาษีตามกำหนด ทั้งนี้ หากพบเห็นป้ายที่เกี่ยวข้องกำชับให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดเก็บทันที” นายสกลธี กล่าว

นอกจากนี้ นายสกลธี กล่าวว่า กรณีตู้โทรศัพท์สาธารณะผิดกฎหมายที่มีการติดป้ายโฆษณาไม่ได้ขออนุญาตกับ กทม. เบื้องต้นพบมีจำนวน 465 ตู้ 1,068 เครื่อง ในพื้นที่ 8 เขต ได้แก่ พญาไท ราชเทวี บางรัก ปทุมวัน สาทร วัฒนา คลองเตย และพระนคร โดยทั้งหมดเป็นตู้โทรศัพท์ที่บริษัทเอกชนทำสัญญากับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2555 แต่หมดสัญญาและยังไม่รื้อย้าย คาดจะสั่งการรื้อถอนทั้งหมด เนื่องจากศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า กรณีสำนักงานเขตสาทรรื้อถอนตู้โทรศัพท์ดังกล่าวเป็นการกระทำโดยชอบและศาลไม่ได้ทุเลาการบังคับ อย่างไรก็ตาม บริษัทเอกชนอยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์กับศาลปกครองสูงสุด ทั้งนี้ จะมีการประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image