หมอจุฬาฯเตรียมเสนอข้อมูลผู้ป่วยนิรนามใช้ ‘กัญชา’ รักษาโรค หวังให้ อย.อนุมัติเป็นพืชยา

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 24 ตุลาคม ที่อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  มีการประชุมคณะกรรมการการกำหนดนโยบาย แนวทาง และการดำเนินการตามร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ… ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างพ.ร.บ.บัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด(ฉบับที่..) พ.ศ..โดยมี นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน และมีกรรมการจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม 40 คน ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการกฤษฏีกา ฯลฯ ซึ่งคณะกรรมการฯชุดนี้แต่งตั้งขึ้นโดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีหน้าที่ในการพิจารณาจัดทำกฎหมายลำดับรองหรืออนุบัญญัติที่ออกมารองรับกฎหมายหลัก ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในขั้นกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และกำลังเกิดคำถามในสังคมที่มีความต้องการผลักดันให้สามารถนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ได้ ว่าจะปลดล็อกกฎหมายได้ทันหรือไม่

ต่อมาเวลา 11.00 น. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย หนึ่งในกรรมการชุดดังกล่าว กล่าวถึงผลการประชุม ว่า ในเรื่องของร่างพ.ร.บ. ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ทั้งหมดนั้น จำเป็นต้องมีกฎหมายรองเพื่อมารองรับ แม้ขณะนี้ตัวกฎหมายใหญ่ยังอยู่ในขั้นคณะกรรมาธิการของสนช. ซึ่งมีหลายประเด็นพิจารณาอยู่  แต่ประเด็นที่ 5 และ 6 ของกฎหมายที่ยังอยู่ในขั้น สนช.  ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการพิจารณาในเรื่องวัตถุเสพติดในประเภทที่ 5 คือพืชสมุนไพรต่างๆ ว่าสามารถนำขึ้นเป็นยาได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งหากมีการประกาศให้พืชสมุนไพรเป็นยาได้จริงๆ ก็จำเป็นต้องนำมาพิจารณาต่อว่า แล้วคนที่จะอนุญาตให้จ่ายพืชยาให้แก่ผู้ป่วย จะจำกัดขอบเขตต้องเป็นแค่แพทย์แผนปัจจุบันหรือไม่ หรือจะให้แพทย์แผนไทย รวมทั้งคนที่เป็นโรค หรือครอบครัวที่มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้สารสกัดจากกัญชา ทั้งนำมาจากแหล่งเพื่อนที่มีจิตอาสา หรือปลูกเอง จะใช้ได้หรือไม่ จะมีการผ่อนปรนให้ปลูกได้หรือไม่ เพราะอย่างพื้นที่ปลูกในเรื่องของพืชกระท่อม ขณะนี้มีการผ่อนปรนให้ปลูกได้อย่างจำกัด และมีการควบคุมอยู่ ซึ่งใบกระท่อมก็น่าสนใจในการนำมาใช้ทางการแพทย์ ใช้แก้ปวด เป็นต้น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มเติมอีก 4 คณะขึ้นมาทำงานแบ่งเป็น 1.คณะอนุกรรมการการควบคุมยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท สารระเหย และของกลาง  มีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมการสถานพยาบาลยาเสพติด สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ศูนย์คัดกรอง และการสันนิษฐานว่าเสพ มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน 3.คณะอนุกรรมการศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม และติดตาม ดูแล และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด หรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา มีนพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธาน และ 4. คณะอนุกรรมการโฆษณาเกี่ยวกับการบำบัดรักษายาเสพติด มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งทั้ง 4 คณะจะตั้งขึ้นเพื่อให้มีกฎหมายรองมากำกับ ควบคุม ดูแล ป้องกันและติดตาม โดยจุดนี้อาจารย์หลายภาคส่วนเข้ามา โดยเฉพาะภาคประชาชน อาจต้องรวมทั้งอาจารย์ แพทย์ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ เพื่อให้กระจายอยู่ตามคณะอนุกรรมการเหล่านี้ด้วย เพื่อให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน เนื่องจากที่ผ่านมากฎหมายยาเสพติดจะเน้นเรื่องบทลงโทษ แต่จำเป็นต้องทราบถึงประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อให้เข้าใจถึงบริบทความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

“ความสำคัญของการตั้ง 4 คณะทำงาน เนื่องจากที่ผ่านมาในทางกฎหมาย อย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด( ป.ป.ส. ) จะคำนึงถึง 3-4 อย่างเป็นหลัก คือ คนเสพ ยาเสพ ซึ่งจะเป็นเรื่องกฎหมาย การลงโทษ การผ่อนปรนต่างๆ ซึ่งในที่ประชุมบอกว่า จำเป็นต้องหยิบยกเรื่องประโยชน์จากการใช้สารสกัดกัญชาอย่างชัดๆ ด้วย โดยต้องดึงขึ้นมาให้เห็นถึงประโยชน์ชัดเจน ที่สำคัญเราต้องดึงประชาชน ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยขึ้นมาควบรวม เพราะ ณ ขณะนี้การใช้กัญชามาถึงจุดที่เกือบเป็นมาตรฐาน คือ สามารถบอกได้ว่า ในภาวะเช่นนี้ หรือโรคเช่นนี้ ควรใช้สารสกัดน้ำมันเข้มข้นแค่ไหน วันแรก วันที่สอง วันที่สาม ควรใช้แค่ไหน หรือสามารถบอกได้ถึงว่า ควรใช้แบบหยดใต้ลิ้น หรือสวนทวาร ซึ่งทุกภาคในประเทศมีการรักษาแบบนี้อยู่ แต่ที่คนทั่วไปไม่ทราบเพราะปัจจุบันยังผิดกฎหมาย ดังนั้น ถึงแม้จะเป็นแนวทางในการช่วยชีวิต ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นแต่ก็ยังผิดกฎหมายอยู่ดี ซึ่งขณะนี้ผมได้พูดคุยกับกลุ่มผู้ป่วยนิรนาม ชมรมที่มีการใช้แต่ไม่ขอเอ่ยชื่อ ในการรวบรวมข้อมูลขึ้นมา ซึ่งจะรวบรวมให้เสร็จภายในเดือนนี้ เอาข้อมูลมาตีแผ่เพื่อรองรับกับกฎหมายที่จะปลดล็อกออกมา” กรรมการฯ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งอนุกรรมการขึ้นมาอีกจะยิ่งทำให้กฎหมายล่าช้าหรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ทันมกราคมแน่นอน เนื่องจากไทม์ไลน์กฎหมายให้ดำเนินการออกกฎหมายรองเสร็จประมาณเดือนพฤษภาคม 2562 ถ้าเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2562 ก็ไม่ทันรัฐบาลนี้  แต่ในเรื่องการดำเนินการออกกฎหมายลูกก็จำเป็นต้องทำควบคู่กันไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเรื่องการปลดล็อกกัญชานั้น ตนมองว่ายังต้องอาศัยวิธีการของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด  โดย อย. ต้องเสนอในการประชุม และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ.ลงนาม ให้สารสกัดกัญชาเปลี่ยนจากสารเสพติดประเภท 5 เป็นสารเสพติดประเภท 2 และต้องให้อย.กำกับชัดเจนว่า เมื่อกัญชาเป็นสารเสพติดประเภท 2 จะต้องเป็นยา ที่ไม่ใช่แค่สารสกัด แต่ต้องรวมถึงพืชกัญชา เพื่อเปิดทางให้ภูมิปัญญาท้องถิ่น แพทย์แผนไทยด้วย ซึ่งเป็นทางที่เร็วที่สุดและทันมกราคม 2562 ขณะเดียวกันตนเห็นด้วยกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา พืชกระท่อม พ.ศ. ฉบับประชาชน  ซึ่งจัดทำโดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.)  คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย  โดยจะผลักดันควบคู่ไปด้วย

“สิ่งสำคัญขณะนี้ผมจะเป็นคนประสานในการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยที่ใช้กัญชาบำบัดรักษาโรค ซึ่งขณะนี้ประสานได้ 50 คน ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ลมชัก อาการชักเกร็ง และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งมีผู้แทนจาก อย. เพื่อให้ทราบว่ากัญชาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นช่วยชีวิตผู้คนได้จริง จะได้นำมาประกอบพิจารณาเมื่อปรับกฎหมาย ให้สารกัญชาเป็นประเภท 2 ใช้เป็นยาที่ไม่ใช่แค่สารสกัด แต่รวมพืชยาด้วย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image