สสนก.ทำสำเร็จฟื้นเขาหัวโล้น น่าน 1.6 พันไร่ ชาวบ้านถามกลับ กรมป่าไม้เจ้าของพื้นที่แท้ๆ ทำไม ทำไม่สำเร็จซะที

ระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ลงพื้นที่ดูการบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ที่ วท.โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ดำเนินการ เพื่อพัฒนาเป็น “ต้นแบบความสำเร็จ” ของการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชนตลอดจนเกษตรกรและชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำ ใช้ในการแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม รวมไปถึงพัฒนาคนบนพื้นฐานการพึ่งตนเอง ให้สามารถประสานการทำงานร่วมกับ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายชุมชนสามารถใช้แผนที่และข้อมูลสารสนเทศในการวางแผนและบริหาร จัดการน้ำให้มีน้ำพอใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค และการเกษตรสามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ของชุมชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกเหนือจากดูพื้นที่ การบริหารจัดการน้ำชุมชน ในชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต ต.แวงน้อย อ.แวงน้อย แวงน้อยแล้ว นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการ สสนก. ได้รายงานถึงการที่ สสนก.ร่วมกับภาคเอกชนได้เข้าไปฟื้นฟูพื้นที่เขาหัวโล้นใน จ.น่าน ให้กลับมากลายเป็นพื้นที่สีเขียวได้สำเร็จ

 

Advertisement

ปี 2559

 

Advertisement

สิงหาคม 2561

นายสุทัศน์กล่าวว่า ตามข้อสั่งการ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่ได้มอบหมายให้ สสนก.ศึกษาเพิ่มเติมและพัฒนาพื้นที่เขาหัวโล้นและการปลูกพืชไร่บนภูเขา เช่นกรณี จ.น่าน โดย สสนก.ได้กำหนดแนวทางพื้นที่ต้นแบบฟื้นฟูเขาหัวโล้น พร้อมพัฒนาแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค จ.น่าน จึงเป็นการทำงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ บ้านดงผาปูน และบ้านนาบุง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน พื้นที่เป้าหมาย 1,200 ไร่ โดยดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2560-2562

“เราเริ่มจากการจัดหาน้ำและสร้างน้ำบนภูเขาก่อน ชะลอการพังทลายของหน้าดิน โดยการสร้างฝายชะลออน้ำและกักเก็บน้ำ ปรับปรุงดินให้อุ้มน้ำ และปลูกพืชคลุมดิน เช่น ไบโอซาร์ กล้วยป่า และหญ้าเนเปียร์ หลังจากนั้นก็เข้าไปจัดการพื้นที่ป่ากันชน พื้นที่ป่าชุมชน โดยปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เน้นพันธุ์ไม้ท้องถิ่น โดยมีการบริหารจัดการชนิดพืช การให้น้ำ โดยกำหนดและพืชที่ปลูกในฤดูฝน และฤดูแล้ง ปรับปรุงคันนาขั้นบันได เพื่อกักเก็บน้ำฝน ขุดสระ สำรองน้ำและเลียงปลา เพื่อสร้างรายได้ ซึ่งการพัฒนาปรับปรุงดังที่กล่าวมา ยังมีการทำระบบสำรองน้ำ และท่อส่งน้ำ เพื่อการอุปโภค บริโภค มีการตั้งกติกาในชุมชน เพื่อการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าในพื้นที่ ที่สำคัญคือ ให้การบริหารจัดการทั้งหมด มีชาวบ้านในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมทั้งหมด” นายสุทัศน์กล่าว

ผู้อำนวยการ สสนก.กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ทำให้จากเดิมชุมชนบ้านดงผาปูนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ดินถล่มมากว่า 20 ปี ปลูกพืชเชิงเดี่ยวจนเกิดปัญหาเขาหัวโล้น ในปี 2554 ชุมชนได้ร่วมกับ สสนก.สำรวจ เก็บข้อมูล วิเคราะห์ปัญหา และวางแผนพัฒนา แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคและการเกษตรได้ ต่อมาในปี 2560 ชุมชนได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ฟื้นฟูเขาหัวโล้น จากวิธีการดังกล่าว สามารถสร้างต้นแบบการฟื้นฟูเขาหัวโล้นได้มากกว่า 1,600 ไร่ เป็นตัวอย่างชุมชนในการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำและฟื้นฟูแหล่งน้ำแบบพึ่งพาตัวเอง จัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม และยั่งยืน” นายสุทัศน์กล่าว และว่า เวลานี้ชาวบ้านในพื้นที่บ้านดงผาปูนได้ลดการปลูกข้าวโพดเพื่อจำหน่าย จาก 40 กว่าราย เหลือเพียง 8 ราย ทั้งนี้ ยังมีการจัดสรรพื้นที่ร่วมกับการปลูกกล้วย ซึ่งเป็นไม้นำทางและสามารถเก็บน้ำเก็บความชื้นได้มากขึ้น

นายสุวิทย์กล่าวว่า เรื่องที่ สสนก.รายงานมานี้ถือว่าน่าตื่นเต้นอย่างมาก เพราะเรื่องนี้แม้หลายคนจะคิดว่าสามารถแก้ปัญหาได้ แต่คงจะต้องใช้เวลาอีกนาน แต่ด้วยการนำเอาหลักการตามแนวพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ร่วมกับการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน มาใช้ร่วมกัน ทำให้การแก้ปัญหาในพื้นที่ประสบความสำเร็จรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้เรื่องการทำให้พื้นที่มีน้ำ ทั้งน้ำกินและน้ำใช้ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะน้ำเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้ โดยสัปดาห์หน้าจะนำทีมงานของ สสนก.ที่ทำงานเรื่องนี้เข้าไปรายงานผลความสำเร็จต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่มีการรายงานเรื่องนี้ออกไปมีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างแพร่หลาย โดยมีการชื่นชมการทำงานของ สสนก. ตั้งแต่ยุคที่มีนายรอยล จิตรดอน เป็นผู้อำนวยการ มาจนถึงนายสุทัศน์ และมีการตั้งคำถามกลับไปยังกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นเจ้าของดูแลพื้นที่เขาหัวโล้น และกระทรวงมีนโยบายให้แก้ปัญหาเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ทำไมยังไม่สามารถจัดการได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image