นักวิชาการ ฟันธง ถึงเวลายกระดับควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ผศ.ศรีรัช ลอยสมุทร วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประชาชนไทย ถือว่ามีความน่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่าคนส่วนใหญ่หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพราะได้รับการสื่อสารความเชื่อผิดๆ โดยเฉพาะในสื่อโซเชียลมีเดียที่อ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตรายแต่อย่างใด ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่จริง โดยมีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนมีอันตราย นอกจากนี้ ยังมีการสื่อสารความเชื่อผิดๆ ว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่มวนได้ แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการเปลี่ยนประเภทการสูบเท่านั้น หรือแม้แต่การอ้างอิงว่าบุหรี่ไฟฟ้าได้รับการยอมรับในทุกประเทศ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว หลายประเทศเริ่มมีมาตรการควบคุมโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน อาทิ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฯลฯ

“แม้ว่าขณะนี้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และประกาศกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดให้บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งไม่สามารถซื้อขาย หรือโฆษณาในราชอาณาจักรได้ แต่กลับมีการลักลอบนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก ทำให้หากจะต้องทบทวนกฎหมายเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ควรมีการทบทวนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างตรงวัตถุประสงค์ เพื่อให้ไม่มีการขายหรือโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าได้ตามกฎหมายที่มีในปัจจุบัน” ผศ.ศรีรัชกล่าว

ผศ.ศรีรัชกล่าวต่อว่า ปัจจุบันจากการสำรวจนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 อายุ 16-18 ปี จำนวน 945 คน ในกรุงเทพฯ พบว่า 30.5% สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยเชื่อว่าปลอดภัยและไม่เสพติด และการสำรวจในกลุ่มวัยมหาวิทยาลัย 1,155 คน พบ 61% สูบบุหรี่ไฟฟ้า และ 41% เชื่อข้อมูลในเฟซบุ๊กที่ขายบุหรี่ไฟฟ้าว่าปลอดภัย เป็นการสูบแต่ไอน้ำ โดยไม่ทราบว่าในบุหรี่ไฟฟ้านั้นมีนิโคตินและสารประกอบอื่นๆ ที่เป็นสารเคมีอันตรายเช่นเดียวกัน โดยพบว่าปัจจุบันมีการสร้างเพจขึ้นมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า แต่เป็นข้อมูลที่ขัดต่อหลักฐานทางวิชาการ และเป็นการสร้างความเชื่อผิดๆ ให้กับเยาวชน และกลุ่มนักสูบว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย

“สิ่งที่น่าห่วงในกลุ่มเยาวชน คือหลายคนเริ่มหันมาเริ่มต้นการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งการปรับแต่งกลิ่น รสของบุหรี่ไฟฟ้าทำให้สูบได้ง่ายขึ้น ไม่มีอาการเจ็บคอหรือระคายคอเหมือนบุหรี่ชนิดมวน จึงทำให้การสูบนั้นง่ายขึ้นและอาจกลายเป็นการสูบบ่อยจนติดบุหรี่โดยไม่ทันรู้ตัว ทำให้อัตราการติดบุหรี่ของเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการกระตุ้นตลาดในสื่อออนไลน์ ขายตรงทางไลน์ เฟซบุ๊ก ซึ่งเข้าถึงตัวเด็กได้ง่าย จะทำให้ยากต่อการควบคุม ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ทั่วถึง” ผศ.ศรีรัชกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image