‘ต้าถัง’ ถกภาคปชช.ผุด ‘เขื่อนปากแบง’ กั้นโขงเฉียดแดนไทย นักวิชาการหวั่นปลาสูญพันธุ์

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มีการประชุม “Technical Consultation Meeting” ระหว่างเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และผู้แทนบริษัท ต้าถัง เพื่อรับฟังและชี้แจงข้อมูลในโครงการสร้างเขื่อนปากแบงซึ่งกั้นลำน้ำโขงใน สปป.ลาว และอาจส่งผลกระทบถึงประเทศไทย เนื่องจากอยู่ห่างจากชายแดนไทยด้าน จ.เชียงราย เพียง 90 กิโลเมตร ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทต้าถังได้ส่งคณะผู้แทนเข้าร่วม 11 คน นำโดย นายวูเตา ผู้บริหารบริษัทต้าถังในลาว มีผู้ประสานงานฝ่ายไทย นำโดย พล.ต.ต.ณัฐกณฑ์ การปลูก ที่ปรึกษาบริษัทอัลติมา และคณะอีก 6 คน และบริษัทต้าถังยังได้เชิญนายจันแสวง บุญนอง อธิบดีกรมการนโยบายแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว เข้าร่วมด้วย ขณะที่ฝ่ายไทย ประกอบด้วย นายชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มช. ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ นายชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านประมง นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำ ผู้แทนกรมประมง เป็นต้น

น.ส.เพียรพร ดีเทศ ฝ่ายวิชาการของคณะทำงานฝ่ายไทย กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลเท่าที่มีของโครงการเขื่อนปากแบง พบว่ายังไม่ชัดเจนในหลายประเด็น เช่น ผลกระทบต่อพันธุ์ปลา ที่น่าสนใจคือ แม้มีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการอพยพของปลา เช่น ทางปลาผ่าน แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้จริง โดยเฉพาะพันธุ์ปลาขนาดใหญ่ และยังมีข้อมูลบางส่วนที่เป็นข้อมูลเก่า ส่วนผลกระทบด้านสังคมนั้น พบว่างบประมาณที่วางไว้ไม่ถึงร้อยละ 10 ของงบโครงการ

ด้านนายชวลิต กล่าวว่า พบว่าเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วในจีนนั้นมีผลกระทบมากมาย โดยพบพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงกว่า 900 ชนิด ทั้งเป็นปลาที่อพยพเดินทางไกล เช่น ปลาบึก และปลาอพยพในระยะสั้นๆ เนื่องจากเขื่อนทำให้เกิดการแบ่งแยกการไหลเวียนของระบบนิเวศ เพราะทำให้แม่น้ำถูกตัดแบ่ง และถูกปิดกั้นโดยเฉพาะในแม่น้ำสาขาสายหลัก

Advertisement

นายชวลิต กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นแหล่งของปลาที่เป็นความมั่นคงทางอาหารของคนลุ่มน้ำโขงกว่า 60 ล้านคน โดยที่จ.เชียงราย จับปลาได้น้อยลงมาก จากเรือประมงกว่า 1,000 ลำ เหลือเพียง 300 ลำ แต่ไม่อาจโทษเขื่อนได้อย่างเดียว อาจมีปัจจัยอื่นด้วย โดยมีปลาที่จับขายในตลาดอยู่ราว 150 ชนิด และมีอย่างน้อย 5 ชนิด กำลังจะสูญพันธุ์ เช่น ปลาบึก ซึ่งมีแหล่งวางไข่ในแม่น้ำโขงแถบ จ.เชียงราย

“ปลายาวเป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่อพยพทางไกล หากินอยู่บริเวณปากแม่น้ำโขงในเวียดนามและอพยพมาวางไข่แถบแม่น้ำโขงภาคอีสาน ซึ่งไม่แน่ใจว่าหากมีการสร้างเขื่อนกั้น จะสามารถปรับตัวได้หรือไม่ เชื่อว่าจะมีปลาอพยพหลายชนิดต้องสูญพันธุ์หากมีเขื่อนกั้นเส้นทางการวางไข่” นายชวลิต กล่าว

นายสาธิต ภิรมส์ไชย ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ได้ไปรับฟังความคิดเห็นกรณีเขื่อนปากแบงมาแล้ว 4 ครั้ง และนำเสนอความเห็นอย่างเป็นทางการไปยังรัฐบาลลาวในฐานะหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะความห่วงใยเรื่องน้ำท่วมจากเขื่อนที่ยังไม่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงในเรื่องของตะกอนสะสม ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในท้ายน้ำ โดยมีข้อเสนอแนะไปว่า ควรร่วมกันศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับน้ำเสียที่จะเข้าประเทศไทย และควรมีการสำรวจทางกายภาพและควรศึกษาให้เป็นระบบมากขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image