กระทรวงแรงงาน จับมือ GIZ ฝึก ‘ช่างแอร์’ ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติครั้งแรกในไทย

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่กระทรวงแรงงาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานช่างเทคนิคเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กพร.ได้ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) จัดโครงการพัฒนาช่างเทคนิคให้มีความชำนาญในการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Job) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Worker) และพัฒนาทักษะฝีมือให้มีมาตรฐานรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และพื้นที่โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

“กพร.จะได้รับการสนับสนุนจากจีไอแซท ในแง่การถ่ายทอดความรู้ให้กับช่างเทคนิคเรื่องการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ โดยเน้นที่สารทำความเย็น R 290 (น้ำแอร์ชนิดใหม่) ช่วยประหยัดไฟฟ้ามากกว่าร้อยละ 10-25 เพิ่มประสิทธิภาพและยืดอายุการทำงานของคอมเพรสเซอร์ ลดภาวะโลกร้อน การสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการฝึกอบรม รวมทั้งการส่งผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมนีมาให้ความรู้ในการฝึกอบรมให้แก่ครูฝึกของ กพร. เพื่อเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่แรงงาน พนักงานในสถานประกอบกิจการ และช่างชุมชน คาดว่าจะเริ่มฝึกอบรมภายในไตรมาสแรกของปี 2562 ตั้งเป้าฝึกอบรมครูฝึก จำนวน 48 คนทั่วประเทศ และคาดว่าจะขยายผลการอบรมแก่ช่างเทคนิคร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ ให้ได้อีก 2,000 คน ใน 2 ปี” นายสุทธิกล่าว

Advertisement

ด้านนายฟิลิปป์ พิชเกอะ ผู้อำนวยการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) กล่าวว่า ความร่วมมือกับ กพร. เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานของโครงการ RAC NAMA ที่จะพัฒนาฝีมือแรงงานไทยในสาขาเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นให้มีความชำนาญและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ด้วยการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานและหลักสูตรการฝึกอบรมการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่ถูกต้องและปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนการจัดฝึกอบรมนำร่องให้กับครูฝึก ความแตกต่างจากหลักสูตรทั่วไป คือ การให้ความรู้และฝึกทักษะการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติอย่างถูกต้องและปลอดภัย รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งและบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (เช่น มาตรวัดน้ำยาแอร์ ปั๊มสุญญากาศ) สัญลักษณ์ความปลอดภัย วิธีการเติมและดูดกลับสารทำความเย็น เป็นต้น

“นอกจากนี้ โครงการได้จัดตั้งกองทุน RAC NAMA ประเทศไทย ซึ่งบริหารโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และจะจัดสรรเงินจากกองทุนดังกล่าวเพื่อใช้จัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับฝึกอบรมแก่ศูนย์ฝึกที่ผ่านการคัดเลือก ความร่วมมือนี้จะเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานไทยให้มีความเป็นเลิศและเป็นไปตามมาตรฐานสากล” นายฟิลิปป์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image