‘ซูเปอร์ตะบันน้ำ’ ลดค่าใช้จ่าย เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

“คนต้นน้ำ” หรือผู้อาศัยอยู่บริเวณต้นน้ำ หากมองจากความเข้าใจของคนทั่วไป คนเหล่านั้นน่าจะเป็นผู้ที่มีน้ำอุปโภค บริโภคอย่างไม่จำกัด แต่ในความเป็นจริงนั้นกลับตรงกันข้าม เนื่องจากธรรมชาติของน้ำ คือ การไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ดังนั้น คนต้นน้ำจึงประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้อย่างรุนแรง
สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ ริเริ่มการทำเครื่องมือที่เรียกว่า “ซูเปอร์ตะบันน้ำ” แก้ปัญหาการเข้าถึงน้ำในที่สูง เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณต้นน้ำ โดยขณะนี้เป็นการนำร่องในพื้นที่ ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์

สมาคมเพื่อการอนุรักษ์ฯ ได้นำโครงการซูเปอร์ตะบันน้ำ เสนอในโครงการ “พลิกไทย” ที่จัดโดยดีแทค เพื่อเชิญชวนให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคล มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยคัดเลือก 10 แนวคิด ที่สามารถปฏิบัติได้จริง และสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สมาชิกส่วนใหญ่ในชุมชน ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวในเชิงเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม เพื่อมอบเงินทุนสนับสนุนเบื้องต้นที่ทำให้โครงการสามารถเป็นจริงได้

ล่าสุด ซูเปอร์ตะบันน้ำ เป็น 1 ใน 10 โครงการที่ได้รับการต่อยอดสนับสนุนจากดีแทค

Advertisement

นายจีระศักดิ์ ตรีเดช นายกสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ กล่าวว่า แม้พื้นที่ต้นน้ำจะเป็นแหล่งกำเนิดของแหล่งน้ำให้กับคนปลายน้ำ แต่ในทางกลับกัน ชุมชนในเขตต้นน้ำเองกลับเข้าไม่ถึงการใช้น้ำ เพราะแหล่งน้ำอยู่ต่ำกว่าพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลกระทบต่อชุมชนบนพื้นที่สูงในการจัดหาและขนส่งน้ำจากแหล่งน้ำที่ต่ำขึ้นสู่พื้นที่สูง เพื่อการอุปโภคและบริโภคในระดับครัวเรือน รวมถึงการทำการเกษตรเชิงนิเวศ ที่ผ่านมา การนำน้ำจากพื้นที่ต่ำขึ้นสู่พื้นที่สูง มักมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เนื่องจากการใช้ปั๊มน้ำที่อาศัยน้ำมันดีเซลและไฟฟ้า ซึ่งพลังงานดังกล่าวเป็นที่มาของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ และแหล่งน้ำบางแห่งอยู่นอกระบบสายส่ง ทำให้ไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

Advertisement

“ด้วยอุปสรรคที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้การดำรงชีวิตของชาวบ้านเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ซึ่งผู้พัฒนานวัตกรรมมีแรงบันดาลใจในการสนับสนุนการเปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่เกษตรเชิงนิเวศ โดยเห็นว่า เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวมีส่วนสำคัญต่อการทำลายระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม เป็นที่มาของวิกฤตด้านสุขภาพ ซึ่งปัจจัยในเรื่องการเข้าถึงน้ำในราคาต้นทุนที่ต่ำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตอาหารและการเกษตรมาสู่เกษตรเชิงนิเวศ” นายจีระศักดิ์ กล่าว

จากการวิเคราะห์ของผู้พัฒนาร่วมกับชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของชุมชนบนพื้นที่สูง พบว่า ชุมชนมีโอกาสเป็นอย่างมากในการเข้าถึงน้ำในราคาต้นทุนต่ำ เพราะที่ตั้งของชุมชนเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในปริมาณมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่อการจัดการน้ำบนพื้นที่สูง ให้ชุมชนสามารถเข้าถึงการใช้น้ำต้นทุนต่ำได้ ซึ่งนั่นคือ เครื่องตะบันน้ำ

สำหรับตะบันน้ำ นวัตกรรมพื้นบ้านเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น สมาคมเพื่อการอนุรักษ์ฯ ได้ร่วมกับชุมชนในหลายพื้นที่ตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ ดำเนินการพัฒนาตะบันน้ำในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่ตอบโจทย์พื้นฐานของการพัฒนานวัตกรรมเบื้องต้นของตนเอง ซึ่งได้ทดสอบเชิงประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับตะบันน้ำรูปแบบต่างๆ พบว่า ซูเปอร์ตะบันน้ำ ที่สมาคมเพื่อการอนุรักษ์ฯ ร่วมกับชุมชนประดิษฐ์ขึ้น มีประสิทธิภาพสูงและสอดคล้องเหมาะสมกับการใช้งานเป็นอย่างมาก ที่สำคัญคือ ซูเปอร์ตะบันน้ำที่พัฒนาสามารถเพิ่มแรงดันได้และมีความทนทาน วัสดุที่ใช้สามารถหาได้ง่าย เช่น ถังแก๊สเก่า เหล็กฉาก เครื่องเชื่อมเหล็ก ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพียงเครื่องละ 5,000 บาท ซึ่งเดิมทีเครื่องปั๊มน้ำแบบใช้น้ำมันดีเซลค่าใช้จ่ายประมาณเครื่องละ 10,000 บาท แถมยังเสียค่าใช้จ่ายในการเติมเชื้อเพลิงอีกด้วย

ทั้งนี้ พบว่าการใช้เครื่องตะบันน้ำ สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง พร้อมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0.532 กิโลคาร์บอนต่อวัน หากใช้เครื่องตะบันน้ำในพื้นที่ 20 เครื่อง เป็นเวลา 1 เดือน จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 319 กิโลคาร์บอน เท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ประมาณ 32 ต้น

ด้าน นายวิไช ด้วงทอง เกษตรกรปลูกผักสวนครัวและข้าวโพด ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า ปัญหาหลักในการทำเกษตรในพื้นที่คือ การจัดสรรน้ำจากแหล่งน้ำ โดยต้องใช้ปั๊มสูบน้ำขึ้นมา เนื่องจากเป็นพื้นที่สูง แหล่งน้ำจะอยู่ตามสันเขาและพื้นที่ต่ำ ที่ผ่านมา ใช้เครื่องปั๊มน้ำดีเซลสูบน้ำขึ้นมาเก็บไว้ในถัง มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ราคาขายพืชยังไม่สูงมาก ซึ่งไม่คุ้มทุน จึงสนใจนำเครื่องตะบันน้ำของสมาคมเพื่อการอนุรักษ์ฯ มาทดลองใช้ 1 เครื่อง ในช่วง 3 เดือน ได้มีการเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย พบว่าการใช้เครื่องตะบันน้ำช่วยให้ประหยัดเงินได้เดือนละ 12,000-15,000 บาท ซึ่งมาจากค่าน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ และพบว่าการใช้ตะบันน้ำ ทำให้ไม่มีช่วงที่ขาดแคลนน้ำเลย เพราะสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image