เปิดมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ รองรับปัญหา-ข้อท้าทายในสังคมผู้สูงวัย

การเตรียมความพร้อมของประชาชนตลอดจนการพัฒนาคนสำหรับอนาคต นับเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทย ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ”

ที่ผ่านมามักจะมีการหยิบยกเรื่องเหล่านี้มาพูดถึงอยู่เสมอ เพื่อหาเเนวทางที่ดีที่สุดที่จะตอบโจทย์ดังกล่าว

รวมถึงการ เปิดเวที “รับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ” ของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย คณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุและคนพิการ

วัส ติงสมิตร

วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน บอกว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุมาตั้งแต่ปี 48 โดยขณะนั้นมีจำนวนผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 16 และคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในปี 64 ซึ่งจะมีผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ

Advertisement

“เห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรอย่างรวดเร็ว เนื่องด้วยจำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวภายในระยะเวลากว่า 10 ปี ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม.จึงได้กำหนดให้เรื่องสิทธิของผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในยุทธศาสตร์ขององค์กรระหว่างปี 60-65 โดยได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุอย่างรอบด้านจัดทำเป็น “(ร่าง) ข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ” และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากเวทีสาธารณะต่อร่างข้อเสนอแนะดังกล่าว เพื่อให้การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิผู้สูงอายุสอดคล้องกับสถานการณ์สิทธิของผู้สูงอายุที่เป็นอยู่จริง” วัสกล่าว

ประกายรัตน์ ตันธีรวงศ์

ขณะที่ ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสิทธิของผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 59 โดยมีการตั้งคณะทำงานขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อจัดทำ “ร่างข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ” ขึ้น

ประกายรัตน์บอกว่า คณะทำงานฯได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลต่างๆ เช่น งานวิชาการ การลงพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถาบันการศึกษา องค์กรหรือชมรมผู้สูงอายุ และนักวิจัยที่ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ ตลอดจนการส่งแบบสำรวจเรื่องปัญหาการละเลยทอดทิ้ง การใช้ความรุนแรง การล่วงละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ และกลไกการปกป้องคุ้มครอง ไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำ”

Advertisement

โดยร่างที่ กสม.จัดทำขึ้น ประกอบด้วย ประเด็นข้อเสนอแนะในสิทธิด้านต่างๆ ของผู้สูงอายุ 7 ด้านดังนี้

(1) สิทธิในที่อยู่อาศัย รัฐควรรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่ที่เหมาะสม

(2) สิทธิด้านสุขภาพ รัฐควรจัดให้มีบุคลากรหรือแผนกรักษาเฉพาะ ให้บริการด้านสุขภาพอย่างเพียงพอ และควรมีมาตรการจูงใจให้มีผู้สมัครเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น

(3) หลักประกันรายได้ รัฐควรเร่งรณรงค์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนออมเงินไว้ใช้จ่ายยามชราภาพ เเละควรพัฒนารูปแบบการออมภาคบังคับสำหรับแรงงานนอกระบบด้วย รวมถึงมีระเบียบชัดเจนในการเบิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

(4) สิทธิในการมีงานทำ รัฐควรพิจารณาขยายการเกษียณอายุเป็น 65 ปี ตามความสมัครใจ และควรเร่งพิจารณาจัดทำมาตรฐานการทำงานของผู้สูงอายุ เช่น ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างที่เหมาะสมกับวัย

(5) สิทธิในการศึกษาตลอดชีวิต อปท. ควรมีหน้าที่ในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยอาจดำเนินการในรูปแบบศูนย์การศึกษาและฝึกอาชีพผู้สูงอายุ

(6) การคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุจากการถูกทอดทิ้งและการแสวงประโยชน์ รัฐควรสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังคุณธรรมให้บุตรมีความรับผิดชอบดูแลบิดามารดาเพื่อป้องกันปัญหาการทอดทิ้งผู้สูงอายุ และควรจัดให้มีบริการดูแลผู้สูงอายุแบบไปกลับในชุมชน รวมถึงการปรับวงเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยให้เพียงพอแก่การยังชีพ

(7) การคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในกรณีภัยพิบัติ โดยมีการกำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลืออย่างชัดเจนประกายรัตน์กล่าวต่อว่า รัฐบาลควรให้ อปท.เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลผู้สูงอายุในระดับชุมชน โดยให้หน่วยงานส่วนกลางมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานและกำกับดูแล เเต่ควรกำหนดช่องทางหลักในการร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของผู้สูงอายุเพื่อความสะดวก

“การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเป็นข้อท้าทายสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้ กสม.ได้นำความคิดเห็นของทุกฝ่ายไปปรับปรุงแก้ไขร่างข้อเสนอแนะให้มีความครอบคลุมและเป็นประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป” ประกายรัตน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image