ภาคประชาชนยันฟ้อง ‘กรมทรัพย์สินทางปัญญา’ ทันที ถ้าผลสอบจดสิทธิบัตรกัญชารับไม่ได้

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) เปิดเผยความคืบหน้าการเรียกร้องให้กรมทรัพย์ทางปัญญายกเลิกการยื่นขอจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชา ว่า ตามที่เครือข่ายภาคประชาชนร่วมกันตรวจสอบพบการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาของบริษัทต่างชาติที่กรมทรัพย์สินฯ รับเรื่องไว้ 13 รายการ นั้น ในจำนวนนี้คำขอหมดอายุรับสิทธิบัตรไปแล้ว 2 ฉบับ ส่วนที่เหลืออีก 9 ฉบับ ล่าสุดยังพบว่ามีหลายสิทธิบัตรเกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย แม้ภายใต้การจดสิทธิบัตรมีข้อห้ามระบุว่า คำขอจะต้องมีความใหม่ แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้น รัฐบาลและกรมทรัพย์สินฯ จะต้องแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรว่า บริษัทที่ยื่นคำขอจะต้องแสดงที่มาของทรัพยกรทางชีวภาพ เช่น พืชสมุนไพรที่ใช้ ครอบคลุมถึงสูตรยาและภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์นั้นด้วย

“ขณะนี้หลายประเทศได้มีการปรับแก้กฎหมายดังกล่าวแล้ว เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งของบริษัทยา ขณะที่ประเทศไทยมีกติการะหว่างประเทศเรื่องดังกล่าว กลับไม่มีการดำเนินการ โดยการแก้กฎหมายดังกล่าวเชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งจะสามารถปฎิเสธการจดสิทธิบัตรตามมาตรา 5 พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ต่อมาจะยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือต่อรองกับบริษัทต่างๆ ได้ ไม่เหมือนกับปัจจุบันที่ไทยเสียเปรียบ ไม่มีข้อต่อรองใดเลย” นายวิฑูรย์กล่าว และว่า จีน ปัจจุบันนวัตกรรมก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะการคำขอจดสิทธิบัตร ขณะนี้มีตัวเลขแซงสหรัฐอเมริกาแล้ว โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าจีนมีความรู้เรื่องยาแพทย์แผนจีน ดังนั้น จีนจึงดำเนินการทั้งเรื่องการจดสิทธิบัตรให้เกิดนวัตกรรมควบคู่กับการแก้กฎหมายต้องแสดงที่มาของทรัพยากรว่าใช้ยาพื้นบ้านของจีนหรือไม่ หากใช้สมุนไพรของจีนจะเข้าหลักเกณฑ์ เงื่อนไขต้องขออนุญาตและแบ่งผลประโยชน์ ซึ่งส่วนนี้กรมทรัพย์สินฯ ยังไม่ดำเนินการ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแต่ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฯ เช่น ถ้าใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองจะต้องแบ่งผลประโยชน์เท่านั้น ดังนั้น จึงมีความเห็นให้กรมทรัพย์สินฯ ต้องดำเนินการเรื่องดังกล่าวด้วย และสามารถดำเนินการได้ทันที เพียงแค่ปรับปรุงเงื่อนไขการขอรับสิทธิบัตรว่าจะต้องเพิ่มเงื่อนไขภายใต้ระเบียบของกระทรวงพาณิชย์

นายวิฑูรย์กล่าวว่า การจดสิทธิบัตรของต่างชาติ มีแนวโน้มสูงมากที่จะนำไปสู่การผูกขาด เนื่องจากมีกลุ่มบริษัทที่ยื่นคำขอร่วมกัน คือ บริษัท โอซึกะ ฟาร์มาคิวติคอล คอมปะนี ลิมิเต็ด บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านยาของญี่ปุ่น และบริษัท จีดับบลิวยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด กลุ่มบริษัทที่มีการจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชามากที่สุดในโลก และยังร่วมกับกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ในการผลิตยาและปรับปรุงพันธุ์กัญชา

“ทราบว่าขณะนี้กระทรวงพาณิชย์มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง คาดหวังจะมีข่าวดี โดยสิ่งที่ต้องทำและอยากให้เปิดเผยต่อสาธารณชน โดย 1.จะต้องรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตรกัญชาทั้งหมด ทั้งที่ขอจดโดยตรงและผ่านระบบพีซีที (PCT) ตามสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร รวมถึงแสดงสถานะของแต่ละคำขอทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะมีมากกว่า 13 ฉบับ 2.ต้องเปิดเผยรายละเอียดภายในสิทธิบัตร เนื่องจากแต่ละสิทธิบัตรจะมีข้อถือสิทธิว่าจะผูกขาดส่วนใดบ้าง เพราะบางคำขอสิทธิบัตรพบมีถึง 61 ข้อถือสิทธิ และ 3.ต้องสรุปผลให้ชัดว่าจะดำเนินการตามมาตรการใดบ้าง” นายวิฑูรย์กล่าว และว่า ส่วนความคืบหน้าการฟ้องร้องนั้น เครือข่ายจะให้เวลา 1 สัปดาห์ เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์สอบสวนข้อเท็จจริงประเด็นดังกล่าว หลังจากนั้นจะพิจารณาผลสรุป ยืนยันว่าหากผลออกมาแล้วรับไม่ได้จะเดินหน้าฟ้องร้องกรมทรัพย์สินฯทันที และขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาประเด็นฟ้องร้อง แต่คาดว่าจะมีท่าทีท่วงดุล เพราะเกรงจะกระทบกับบริษัท นักลงทุนต่างชาติ และกระทบต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ส่อแววว่าจะเปิดให้บริษัทเข้ามาลงทุนตั้งบริษัทยาในไทย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image