เครือข่ายนักวิชาการฯ จี้กรมทรัพย์สินฯ ถอน 7 คำขอสิทธิบัตรกัญชา

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 23 พฤศจิกายน ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายนักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา จัดแถลงข่าว “สิทธิบัตรกัญชา : ยอดภูเขาน้ำแข็งปัญหาการใช้สิทธิบัตรยาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา” เพื่อให้ยกเลิกคำขอรับสิทธิบัตรกัญชา 7 คำขอที่เหลือทันที ภายหลังตรวจสอบข้อมูลพบว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาเคยปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรในลักษณะเดียวกันและยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์แล้ว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์  แถลงว่า การปลดล็อกกฎหมายเพื่อให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ กลับมีอุปสรรคเมื่อกรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดสิทธิบัตรกัญชาและการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคของบริษัทต่างชาติ ภายหลังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ค้นเจอคำขอรับสิทธิบัตร 11 ฉบับ และขุดคุ้ยจนพบว่ามี 12 ฉบับ เมื่อความเริ่มแตก นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนว่าคำขอมีมากถึง 31 คำขอ ขณะเดียวกัน ยังมีแหล่งข้อมูลอื่นที่ระบุว่ามีจำนวนคำขอแตกต่างกันไป เช่น บทความของบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายสหรัฐอเมริกา Tilleke&Gibbins ระบุว่ามี 39 คำขอที่ประกาศโฆษณาแล้ว เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าฐานข้อมูลของกรมทรัพย์สินฯ มีปัญหาในการสืบค้น ทำให้ได้ข้อมูลที่แตกต่างและไม่ครบถ้วนทั้งหมด รวมถึงพยายามบิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยไม่เปิดโอกาสให้นักวิชาการนำข้อมูล หลักฐาน งานวิจัยที่มีอยู่พูดคุยบนหลักการเหตุและผล ตลอดจนยังอ้างว่าไทยยกเลิกคำขอไม่ได้ เพราะอนุสัญญาระหว่างประเทศ (ทริปส์) และความตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิบัตรการประดิษฐ์ (พีซีที) แท้จริงแล้วใครหลอกใคร แกล้งโง่หรือยอมให้ถูกหลอก เพราะทำคนไทยทั้งประเทศเสียประโยชน์

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟเอที วอชต์)กล่าวว่า รัฐบาลพยายามเดินหน้าไทยแลนด์ 4.0 แต่ฐานข้อมูลสิทธิบัตร 0.4 กลายเป็นยอดภูเขาน้ำแข็งปัญหาการพิจารณาสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินฯ มีปัญหาในการสืบค้น และไม่เปิดเผยรายละเอียดคำขอทั้งหมด หากต้องการดูรายละเอียดต้องไปเปิดแฟ้ม ล่าสุด มีนักวิชาการขอเปิดแฟ้มสิทธิบัตรกัญชากลับไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้ง ยังละเลยกฎหมาย ไม่ตรวจสอบรับคำขอสิทธิบัตรอย่างเคร่งครัด ก่อเป็นปัญหาต่อด้านเศรษฐกิจ สังคมและนวัตกรรมไทย แม้ก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมทรัพย์สินฯ แถลงว่าคำขอที่ได้ประกาศโฆษณาแล้ว ต้องดำเนินการตามขั้นตอนและไม่สามารถยกเลิกคำขอได้ระหว่างดำเนินการไม่เป็นความจริง เนื่องจากสามารถยกคำขอได้ก่อนประกาศโฆษณาตามมาตรา 28 และหลังประกาศโฆษณาตามมาตรา 30 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิทธิบัตร ต่อมารัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ แถลงว่ามีการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรเลขที่ 1101003758 โดยใช้มาตรา 30 ว่าผิดมาตรา 9 (1) เพราะจะขอจดสารสกัดจากธรรมชาติไม่ได้ แต่คำขอดังกล่าวมีชื่อประดิษฐ์ คือ การใช้สารในการรักษาโรค ซึ่งจะผิดทั้งมาตรา 9 (1) เรื่องสารสกัด และ 9 (4) ไม่ให้จดสิทธิบัตรการวินิจฉัยโรค บำบัดและรักษาโรค

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า ดังนั้น การใช้มาตรา 9 (1) และ 9 (4) เป็นเหตุผลของการยกเลิกคำขอ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ใช้มาตรา 9 (4) ยกเลิกคำขอ ทำให้มีคำขอลักษณะเดียวกันที่ไม่ได้ถูกยกเลิกคำขอทิ้งไปพร้อมกัน ไม่ต่ำกว่า 6 คำขอ และทั้งหมดมาจากบริษัทเดียวกัน คือ จีดับเบิลยูฟาร์มาลิมิเต็ดและโอซึกะฟาร์มา คิวติคอล คอมปะนีลิมิเต็ด โดยคำขอทั้งหมดสามารถยกเลิกได้ทันที ดังนี้ คำขอเลขที่ 0801006631 ตามมาตรา 9(4), 0901002471 มาตรา 9(4), 1201004672 มาตรา9(4), 1201005115 มาตรา 9(4), 1301003751 ตามมาตรา 9(4) และ 1401001619 ตามมาตรา 9(1)(4) อย่างไรก็ตาม พบ 5 คำขอกำลังพิจารณาประกาศโฆษณา และ 1 คำขอเลขที่ 0901002471 อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายกำลังพิจารณาตรวจสอบขั้นตอนขอรับสิทธิบัตร แต่กรมทรัพย์สินฯ ยังไม่ดำเนินการและให้ข้อมูลไม่ครบต่อสนช. จนทำให้สมาชิกสนช.บางคนเข้าใจว่าคำขอรับสิทธิบัตรกัญชาบางคำขอสมควรได้รับสิทธิบัตร

Advertisement

“เมื่อกระทรวงพาณิชย์ไม่ดำเนินการ ทำให้คำขอทั้งหมดค้างอยู่ในระบบ เมื่อประกาศโฆษณาและตรวจสอบการประดิษฐ์ได้ถึง 5 ปี ทำให้ผู้ยื่นคำขอสามารถยื่นหนังสือโนติส (notice) เพื่อข่มขู่บริษัทหน่วยงานที่กำลังทำวิจัยและกำลังออกผลิตภัณฑ์ หลังจากมีการปลดล็อกกัญชาใช้ทางการแพทย์ ว่าตนเองนั้นกำลังยื่นขอสิทธิบัตรและสามารถฟ้องร้องค่าเสียหายย้อนหลังไปจนถึงวันที่ยื่นขอสิทธิบัตร ทำให้หน่วยงานและบริษัทเดินหน้าผลิตยาเพื่อผู้ป่วยไม่ได้ ยกตัวอย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับบริษัทผู้ผลิตยาสามัญ ถ้าเป็นแบบนั้นก็ต้องฟ้องร้องกันอย่างเดียว และที่ผ่านมาศาลฏีกาไม่เคยพิพากษาให้บริษัทยาสามัญเคยแพ้คดี” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

ส่วน รศ.ดร.ภญ.นุศราพร  เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า คู่มือของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ใช้ในการตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตร ฉบับปรับปรุงใหม่ปี 2555 ขัดแย้งกับพ.ร.บ.สิทธิบัตรไทย โดยเฉพาะหน้าที่ 28 ระบุว่า สารสกัดจากพืชและสัตว์ไม่สามารถยื่นคำขอสิทธิบัตรตามมาตรา 9(1) หมายความว่า มันมีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้วเพียงนำมาสกัดสารให้บริสุทธิ์เพื่อใช้ประโยชน์ ซึ่งการทำให้บริสุทธิ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสารเคมี ยังเป็นธรรมชาติอยู่ แต่หน้าที่ 30 ระบุว่า “ผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติให้บริสุทธิ์ USPTO EPO และ JPO ไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติหรือการค้นพบ เพราะว่าสารเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ในธรรมชาติในรูปลักษณะที่บริสุทธิ์ สารจุลชีพที่ถูกแยกออกมาจากธรรมชาติ อาจขอรับสิทธิบัตรได้ ถ้าคุณสมบัติสำคัญของสารที่ถูกแยกไม่ได้เป็นเช่นเดียวกับที่แสดงไว้ธรรมชาติ” ขัดกับพ.ร.บ.สิทธิบัตร ตามมาตรา 9(1) ชัดเจน ทำให้กรมทรัพย์สินเข้าใจผิดว่าสารสกัดกัญชาจดสิทธิบัตรได้ ควรนำไปปรับปรุงคู่มือของกรมทรัพย์สินฯ ต่อไป

“เนื่องจากกฎหมายสิทธิบัตรของแต่ละประเทศแตกต่างกัน โดยกฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา (USPTO) สหภาพยุโรป (EPO) และญี่ปุ่น (JPO) ไม่มีข้อยกเว้นตามมาตรา 9(1) เหมือนกฎหมายไทย เพื่อจะทำให้สารสกัดเหล่านี้ไม่ถูกผูกขาด โดยไทยไม่ผิด เพราะกฎหมายสิทธิบัตรไทยทั้งหมด ปฎิบัติตามข้อตกลงทางทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลกแล้ว อีกทั้ง คำขอรับสิทธิผ่านพีซีที เป็นเพียงกระบวนการอำนวยความสะดวกในการยื่นรับขอสิทธิบัตรหลายประเทศพร้อมกัน แต่การพิจารณาจะให้สิทธิบัตรได้นั้น ต้องเป็นไปตามกฎหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งกฎหมายไทยระบุชัดไม่สามารถให้สิทธิบัตรได้ กรมทรัพย์สินฯ จะอ้างพีซีดีไม่ได้” รศ.ดร.ภญ.นุศราพร กล่าวและว่า ไทยเขียนกฎหมายไม่ให้จดสิทธิบัตรพืชธรรมชาติได้ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ต่างจากสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่นที่เปิดกว้างเพื่อล้วงทรัพยากรประเทศอื่น

Advertisement

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงานองรณรงค์เข้าถึงยา มูลนิธิเอดส์  กล่าวว่า  ยังมีคำขอเลขที่ 0901002472 แต่คำขอหลังผู้ขอได้ละทิ้งคำขอสิทธิบัตรหลังประกาศโฆษณา เนื่องจากเชื่อว่าคำขอลักษณะนี้ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร ดังนั้น ปัจจุบันจะมีคำขอรับสิทธิบัตรที่หลงเหลือรวม 7 คำขอ ซึ่งแท้จริงทั้งหมดสามารถยกเลิกคำขอทิ้งได้ทันที.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image