คนมักง่ายระวัง ‘กทม.’ ประกาศเพิ่มค่าปรับขี่รถบนทางเท้าเป็น 1,000 บาทเริ่มวันนี้

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่สำนักงานเทศกิจ นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมแนวดิ่งเทศกิจ 50 เขต ถึงการแก้ไขปัญหารถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้า ว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมาแม้กทม.จะออกมาตรการอย่างเข้มงวด ตามโครงการจับจริง ปรับจริง ทำให้ในรอบ 4 เดือน สามารถจับผู้กระทำผิดได้กว่า 10,000 ราย และปรับเป็นเงินได้กว่า 4 ล้านบาท แต่จำนวนผู้กระทำผิดกลับไม่ลดลง โดยเฉพาะบริเวณที่ไม่มีเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำจุด มักจะพบผู้ฝ่าฝืนและขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าเช่นเดิม ดังนั้น กทม.จึงต้องเพิ่มมาตรการให้เข้มงวดขึ้น โดยจะปรับเพิ่มอัตราค่าผู้ขับขี่บนทางเท้า จากอัตราต่ำสุด 500 บาทเป็น 1,000 บาท ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เนื่องจากเชื่อว่าการบังใช้กฎหมายอย่างจริงด้วยค่าปรับที่สูงขึ้น จะสามารถแก้ไขปัญหาได้

นายสกลธี กล่าวว่า เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมที่อะลุ่มอล่วย ทำกันมานาน เอาแต่ความสะดวก ดังนั้น กฎหมายที่เข้มงวดและจริงจังจะทำให้ผู้กระทำความผิดไม่กล้าทำผิดซ้ำอีก แม้ก่อนหน้านี้พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ได้เคยมอบนโยบายถึงการปรับขั้นต่ำ 500 บาท โดยไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อปรับหรือเพิ่มภาระใช้จ่าย เพราะต้องการให้ประชาชนมีจิตสำนึกบ้าง แต่กลับยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม หากการปรับอัตราเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 บาท หากไม่เห็นผลอีกจะพิจารณาปรับขึ้นอีก รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ยึดรถจักรยานยนต์ หรือสิ่งของที่ใช้กระทำความผิดตามกฎหมาย สำหรับผู้ไม่สามารถจ่ายค่าปรับได้ และมอบรถคืนจนกว่าจะนำค่าปรับมาไถ่รถ

นายสกลธี กล่าวว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีการหารือถึงการเพิ่มโครงการคู่ขนานกับการนำกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี)  จับภาพผู้กระทำผิด พร้อมส่งใบสั่งเป็นจดหมายไปยังที่พักอาศัย โดยได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักเทศกิจหารือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อศึกษารายละเอียดดังกล่าว ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันกทม.จะกล้องซีซีทีวีในพื้นที่กรุงเทพมหานครถึง 50,000 ตัว แต่กล้องดังกล่าวเพื่อความปลอดภัย ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจับผู้กระทำผิด ขณะเดียวกัน ยังมอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่งเขียนโครงการเสนอเสนอผู้บริหารเพื่อขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม รวมถึงเบื้องต้น กทม.จะต้องประสานกับทางกรมขนส่งทางบกเกี่ยวกับการขอเลขทะเบียนรถเพื่อนำมาดำเนินการตามกฎหมาย

นายสกลธี กล่าวถึงกรณีรถจักรยานยนต์ชนเด็กนักเรียนปากซอยลาดพร้าว 69 เขตวังทองหลาง ว่า เมื่อเกิดเหตุขึ้น ผู้อำนวยการเขตวังทองหลางได้รายงานต่อผู้บริหารรับทราบทันที พร้อมส่งหัวหน้าฝ่ายเทศกิจเยียวยาในเบื้องต้นแล้ว ขณะที่ผู้กระทำผิดนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวมาดำเนินการตามกฎหมายทั้งจำและปรับ

Advertisement

“ยอมรับว่าได้รับเสียงสะท้อนถึงกรณีข้อละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เทศกิจ แต่ขอเรียนว่าสังคมได้ให้ความเป็นธรรมต่อเจ้าหน้าที่เทศกิจด้วย เนื่องจากอัตรากำลังที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยแต่ละเขตจะมีเจ้าพนักงานราว 50-60 คน แต่ด้วยถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีถนน ตรอกซอยจำนวนมาก เจ้าหน้าที่คงไม่สามารถประจำได้ทุกจุดและตลอด 24 ชั่วโมงในทุกวัน บางจุดจึงเล็ดลอดสายตาไปบ้าง ยกเว้นจุดที่กทม.กำชับให้กวดขันบนถนนสายหลัก 233 สาย หากยังเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอยู่จะต้องมีการคาดโทษเจ้าหน้าที่เทศกิจ” นายสกลธี กล่าว และว่า ในที่ประชุมยังหารือกรณีจุดจอดรถจักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) จากเดิมที่กำหนดให้จอดบนทางเท้าเพื่อแก้ไขปัญหากีดขวางการจราจรในบางจุด แต่วันนี้ได้มอบนโยบายสำนักเทศกิจ สำรวจทางเท้าที่มีขนาดกว้าง ดำเนินการปาดเกาะ เหมือนจุดจอดรถแท็กซี่ ไม่ให้รถจักรยานยนต์รับจ้างนำยานพาหนะไปจอดบนทางเท้าหรือกีดขวางการจราจรบนถนน เบื้องต้นสำรวจ 50 เขต พบมีจำนวน 400 จุด ส่วนทางเท้าที่มีขนาดแคบ ต้องหาทางแก้ไขในระยะยาว เช่น ย้ายจุดจอดหรือขอใช้พื้นที่เอกชน แต่คงไม่สามารถจะยกเลิกวินรถจักรยานยนต์ได้ เพราะจะเกิดปัญหากับประชาชน.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image