ชุมชนหลากหลายทางเพศ ไม่เอาร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ชี้ไม่ครอบคลุมสิทธิสมรสชาย-หญิง

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา(อาคารจามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ และเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “สิทธิและความเสมอภาคในการก่อตั้งครอบครัวที่หลากหลาย” เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี วันเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ภายในงานมีการเสวนา ร่างพ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ….ที่ยกร่างโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีนายไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน มีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาภาคเอกชน นักสิทธิความหลากหลายทางเพศตลอดจนผู้แทนพรรคการเมือง อาทิ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ รวมพลังประชาชาติไทย เกียน อนาคตใหม่ สามัญชน ฯลฯ เข้าร่วมกว่า 200 คน

นายกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิตฯ ที่มีอยู่ 70 มาตราดังกล่าว เมื่อเปิดดูในรายละเอียดยังพบความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ยังขาดสิทธิของคู่รักเพศหลากหลายในหลายประการ และเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคู่รักบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อาทิ สิทธิในการตัดสินใจรักษาพยาบาลและจัดการศพของคู่ชีวิต, สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน การอุ้มบุญ และการปกครองบุตรร่วมกัน, สิทธิในผลประโยชน์ และสวัสดิการของคู่รักอีกฝ่ายในฐานะคู่สมรสตามกฎหมาย เบื้องต้นทราบว่ากระทรวงยุติธรรมกำลังเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในเร็วๆนี้ ฉะนั้นเครือข่ายคงจะต้องไปต่อสู้ในชั้นกฤษฎีกาและนิติบัญญัติ เพื่อให้พิจารณาถึงสิทธิที่ตกหล่นตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายคนทำงานด้านหลากหลายทางเพศต่อไป

นายกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย

“ในภาพใหญ่จากนี้ คงจะต้องเอาจริงเอาจังกับการขับเคลื่อนร่างพ.ร.บ.การรับรองเพศ พ.ศ…. เพื่อจะแก้ปัญหาให้กลุ่มกระเทยสาวหลุดพ้นจากการเกณฑ์ทหาร ไม่ต้องไปขอใบรับรองแพทย์และเกี่ยวข้องใบสด.43 รวมถึงการเสนอให้มีการแก้ไขถอยคำที่ในกฎหมายต่างๆ สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายความเท่าเทียมทางเพศที่มีอยู่แล้วให้จริงจัง เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริงต่อไป” นายกิตตินันท์กล่าว

ภายหลังการเสวนา ชุมชนความหลากหลายทางเพศ ประกอบด้วย 13 องค์กรทำงานสิทธิทางเพศ ได้ร่วมออกแถลงการณ์ ในจดหมายเปิดผนึกที่จะยื่นให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และพรรคการเมืองต่างๆพิจารณา ซึ่งมีใจความสำคัญ ดังนี้ สนับสนุนให้เกิดการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ) บรรพ 5, 6 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สิทธิแก่ทุกคนในการสมรสและก่อตั้งครอบครัวอย่างเท่าเทียม รวมทั้งมีการทบทวนเพื่อแก้ไข ปพพ ที่ยังเป็นข้อจำกัด อันนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงของครอบครัวและความไม่เป็นธรรมทางเพศ, ไม่ยอมรับร่าง พ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิตฯ ฉบับกรมคุ้มครองสิทธิฯ โดยต้องแก้ไขให้ครอบคลุมการรับรองสิทธิทุกด้านให้เท่าเทียมกับคู่สมรสหญิงชายในกฎหมายครอบครัวมรดกในปัจจุบัน และวางอยู่บนฐานการเคารพสิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วม, วิธีผลักดันกฎหมาย ต้องผ่านการมีส่วนร่วมที่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image