รพ.เลิดสินแจงข้อเท็จจริง ‘ทำหมันแล้วท้อง’

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกประกาศชี้แจง

ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนางสาวน้ำมนต์ บุญเสน่ห์ ทำหมันแล้วท้อง  โดยระบุว่า

ด้วยนางสาวน้ำมนต์ บุญเสน่ห์ เป็นผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมโรงพยาบาลเลิดสิน มีประวัติการฝากครรภ์ 2 ครั้ง โดยได้ทำการผ่าตัดทำหมันหลังคลอด ในวันที่ 3 มิถุนายน 2559 และได้ลงชื่อในหนังสือยินยอมรับการผ่าตัดทำหมันหลังคลอดแล้วว่ามีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ และในวันที่ 29 ตุลาคม 2560 ได้ตรวจพบการตั้งครรภ์  ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2560 ได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์พบว่ามีการตั้งครรภ์ในมดลูก แพทย์ได้ให้คำปรึกษาส่งฝากครรภ์และให้ยาบำรุง และในวันที่ 9 มกราคม 2561 ผู้ป่วยมาฝากครรภ์ แพทย์ได้อธิบายถึงความเสี่ยงของการตั้งครรภ์และได้เขียนใบคำร้องยื่นต่อโรงพยาบาลเลิดสิน  เพื่อขอเยียวยาจากการทำหมันแล้วท้อง ซึ่งทีมไกล่เกลี่ยของโรงพยาบาลได้เข้าไปพูดคุยและชี้แจงกับผู้ป่วยอีกครั้งว่าการทำหมันมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้

โรงพยาบาลแจ้งผู้ป่วยว่าจะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในเรื่องค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ คลอดบุตร จนถึงตรวจหลังคลอด และยื่นเอกสารเพื่อขอเงินชดเชยเยียวยาตามพระราชบัญญัติประกันสังคมช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ โดยได้แจ้งผู้ป่วยว่าให้รอการพิจารณาจากสำนักงานประกันสังคม หลังจากนั้นผู้ป่วยได้มาฝากครรภ์ต่อเนื่องและได้รับการดูแลเป็นอย่างดี จนครบกำหนดคลอด ในเดือนมิถุนายน 2561 จากนั้น ผู้ป่วยคลอด ญาติญาติและผู้ป่วยได้แจ้งกับทีมไกล่เกลี่ยของโรงพยาบาลว่าไม่มีเงินในการซื้ออุปกรณ์และนมสำหรับทารกแรกเกิดเนื่องจากมีฐานะค่อนข้างลำบากและมีบุตรที่เลี้ยงดูหลายคน โรงพยาบาลได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าผู้ป่วยต้องรับภาระเลี้ยงดูบุตรหลายคน ประกอบกับไม่ได้ทำงาน จึงได้มอบเงินช่วยเหลือจำนวน 10,000 บาท และให้ผู้ป่วยติดต่อสำนักงานประกันสังคมเพื่อขอเบิกค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายกรณีคลอดบุตรพร้อมทั้งแจ้งผู้ป่วยให้รอการพิจารณาจากสำนักงานประกันสังคมในเรื่องเงินช่วยเหลือผู้ป่วย และในเดือนสิงหาคม 2561

Advertisement

ผู้ป่วยแจ้งกับทีมไกล่เกลี่ยของโรงพยาบาล เพื่อขอรับการเยียวยาอีกครั้ง จึงได้นัดผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 เพื่อพูดคุย โดยโรงพยาบาลได้ช่วยเหลือ ดังนี้

  1. รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ คลอดบุตร จนถึงตรวจหลังคลอด
  2. โรงพยาบาลมอบเงินช่วยเหลือผู้ป่วยในการดูแลบุตร จำนวน 10,000 บาท
  3. โรงพยาบาลอำนวยความสะดวกในการยื่นเอกสารเพื่อขอเงินชดเชย เยียวยาตาม พระราชบัญญัติประกันสังคม    จำนวน  60,000 บาท
  4.  ผู้ป่วยประกันตนเบิกค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายกรณีคลอดบุตรวจ จำนวน 13,000 บาท

    รวมเป็นเงินที่ผู้ป่วยได้รับโดยประมาณ จำนวน  83,000  บาท

ทั้งนี้ ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยมีสิทธิประกันสังคม ซึ่งเข้าใจว่า เงินที่ได้รับจากสำนักงานประกันสังคมไม่ใช่เงินโรงพยาบาล แต่ความจริงแล้ว เงินเยียวยานั้นคือเงินของโรงพยาบาล เพียงแต่ต้องจ่ายในนามกองทุนที่อยู่ในสำนักงานประกันสังคม

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image