ฝันเริ่มเป็นจริง คอลัมน์ แท็งก์ความคิด

วันที่ 13-19 ธันวาคม ณ ที่ว่าการอำเภอบึงกาฬ เขามีงานใหญ่ชื่อ “งานยางพาราบึงกาฬ”

งานนี้มติชนร่วมกับจังหวัดและ อบจ.บึงกาฬ จัดติดต่อกันมาหลายปี แต่ละปีก็มีอุปสรรคหลากหลาย

แต่ในที่สุดก็ผลักดันออกมาได้ เพราะทุกฝ่ายยังเป็นความสำคัญของชาวสวนยาง

สำหรับปีนี้มีความน่าสนใจตรงที่นวัตกรรมที่แปรรูปจากยางพารา

Advertisement

นวัตกรรมจากยางพารานี้ ได้ยินมาว่าเขาเอาไปทำหมอนยางพาราเพื่อสุขภาพ

นักธุรกิจชาวจีนมารับซื้อไปขายต่อ ได้รับการตอบรับจากชาวจีนอย่างเต็มที่

กลายเป็นสินค้าแปรรูปยางที่ส่งออกไปขายทำรายได้จำนวนมาก

ในปีนี้ มีนวัตกรรมที่เรียกติดปากว่า “ถนนยางพารา” ขึ้นมาอีกอย่าง

ถนนยางพารานี้มีภาษายากขึ้นมาอีกนิดๆ ว่า “ถนนพาราซอยส์ซีเมนต์”

นวัตกรรมนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการนำยางพารามาใช้ทำถนน มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือคิดค้นบุกเบิก

และทดลองทำสำเร็จมาแล้วหลายแห่ง

วันที่มีการแถลงข่าวจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ มีนายพินิจ จารุสมบัติ เป็นโต้โผใหญ่

วันนั้นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือก็มาร่วมด้วย

พร้อมกันนั้นได้นำเอาตัวอย่างถนนพาราซอยส์ซีเมนต์มาแสดงให้ดู

การทำถนนยางพารานี้ เริ่มจากนำยางพาราธรรมชาติ ทั้งยางพาราสด และยางพาราข้นมาดัดแปรโครงสร้างของยางพารา

ทำให้ยางพาราสามารถใช้ร่วมกับวัสดุอย่างดินและปูนซีเมนต์ได้

วิธีการนี้ถือเป็นการพัฒนา

จากเดิมที่ก่อสร้างชั้นถนนด้วยวิธีเดิมที่ใช้ดินซีเมนต์ผสมโพลิเมอร์

เปลี่ยนมาใช้ยางพาราข้นมาผสม โดยใช้น้ำยางพาราสด 2 กิโลกรัมต่อน้ำยาดัดแปร 0.25 ลิตร และปูนซีเมนต์ 5% ของน้ำหนักวัสดุดิน

คำนวณปริมาณการใช้ในการก่อสร้างชั้นโครงสร้างถนน 1 กิโลเมตร หน้ากว้าง 6 เมตร

จะใช้ยางพาราสด 12 ตัน หรือ 12,000 กิโลกรัม หรือคิดเป็นเนื้อยางแห้งถึง 4 ตัน

ราคาค่าใช้จ่ายต่อการสร้างถนนด้วยวิธีนี้ตกกิโลเมตรละล้านกว่าๆ

ราคาถูกกว่าการสร้างทางแบบเดิม

แถมยังพบว่าถนนพาราซอยส์ซีเมนต์นี้ไม่มีฝุ่นอีกด้วย

ดังนั้น ถ้าทั่วประเทศมีความจำเป็นต้องสร้างถนนเพิ่ม หรือรื้อถนนเดิมเพื่อทำใหม่

การสร้างถนนพาราซอยส์ซีเมนต์นี้ขึ้นมาก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

หากทำได้ทั่วประเทศ จะช่วยอุดหนุนชาวสวนยางได้จำนวนมหาศาล

ความคิดเรื่องการนำน้ำยางพารามาเป็นวัสดุดิบในการทำถนนนี้มีความพยายามผลักดันมาหลายปี

ผลักดันมาจากงานยางพาราบึงกาฬนี่แหละ

สุดท้ายล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มองเห็นหนทางช่วยเหลือชาวสวนยาง

ตอนนี้ทราบว่า รัฐบาลได้ผลักดันโครงการสร้างถนนพาราซอยส์ซีเมนต์ โดยให้แต่ละหมู่บ้านสร้างถนนด้วยยางพารานี้ 1 กิโลเมตร

1 กิโลเมตร ใช้น้ำยางพารา 12 ตัน แล้วหมู่บ้านทั่วไทย 7 หมื่นหมู่บ้าน จะใช้น้ำยางพาราทำถนนเท่าไหร่

แหะ แหะ แหะ คิดไม่ทัน

และหากทำได้จริงต้องถือว่านวัตกรรมถนนพาราซอยส์ซีเมนต์จะเป็นนวัตกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยชาวสวนยาง

เพราะก่อนหน้านี้หมอนยางพาราได้สร้างรายได้พิเศษให้ชาวสวนยางที่จังหวัดบึงกาฬมาบ้างแล้ว

หากสามารถทำได้สำเร็จดังที่คาดการณ์ หมอนยางพาราและถนนพาราซอยส์ซีเมนต์จะกลายเป็นตัวอย่าง

ตัวอย่างในการแปรรูปสินค้าเกษตรของไทยให้กลายเป็นสินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

แล้วถ้าประเทศไทยมีนวัตกรรมต่อยอดจากสินค้าเกษตรเช่นนี้ทุกๆ อย่าง

หลายอย่างขายในประเทศไทย อีกหลายอย่างส่งไปขายตลาดต่างประเทศ

ต่อๆ ไปก็จะมีคนไทยคิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาด้วยการต่อยอด “ของดีที่มีอยู่”

ทำให้ “ของดีๆ” มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

และถ้าสามารถคิดค้นนวัตกรรมยางพาราขึ้นมาได้อีก แล้วใช้กันในประเทศกันก่อน

ชาวสวนยางก็น่าจะมีโอกาสได้รายได้มากขึ้น

ความฝันเริ่มกลายเป็นจริง

งานยางพาราบึงกาฬนั้นจัดมาแล้วหลายปี แต่ดูเหมือนปีหลังๆ นี้จะมีพัฒนาการ

มีความพยายามจะนำยางพาราไปแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่ม

จากความพยายามในวันนั้น กลายเป็นความสำเร็จในวันนี้

และอยากให้ความสำเร็จดังกล่าวมีการต่อยอดไอเดียต่อๆ กันไปไม่หยุดยั้ง

เพิ่มมูลค่าแล้วเพิ่มมูลค่าอีก

เพื่อให้ชาวสวนยางมีรายได้ที่ยั่งยืน เป็นรายได้ที่ได้จากคุณภาพของยางพารา

และเป็นรายได้ที่ก่อเกิดขึ้นมาจากไอเดีย หรือนวัตกรรม

แต่ก่อนจะก้าวไปถึงจุดนั้น อย่าลืม วันที่ 13-19 ธันวาคม ใครว่างแวะไปชมงานวันยางพาราบึงกาฬ

ที่นั่น มีทั้งนิทรรศการ มีเวทีวิชาการ มีการสาธิตนวัตกรรม

ใครเครียดมีรายการบันเทิงให้ชม และยังมีการประกวดชิงรางวัลอื่นๆ

พร้อมกันนั้นยังมีสินค้าให้ช้อปปิ้งส่งท้ายปี

ใครอยากทราบรายละเอียดมากกว่านี้ ติดตามอ่านได้จากสื่อหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ในเครือมติชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image