เปิดตัว ‘สภาวิจัยแรงงานแห่งชาติ’ ม.ค.62 รองรับอุตสาหกรรม 4.0

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีแผนจัดตั้งสภาวิจัยแรงงานแห่งชาติ โดยขณะนี้ได้ประสานให้นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นที่ปรึกษา และช่วยจัดระเบียบข้อมูลด้านแรงงานที่มีจำนวนมาก และกระจัดกระจายอยู่ในหลายหน่วยงานมารวมไว้เป็นระบบเดียวกัน ซึ่งในเร็วๆนี้จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) จัดตั้งสภาวิจัยแรงงานแห่งชาติ และจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือนมกราคม 2562

“ตั้งเป้าว่าสภาวิจัยแรงงานแห่งชาติ จะเป็นแหล่งข้อมูลด้านแรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานแล้ว ยังสามารถเชื่อมกับหน่วยงานภายนอก เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น เพื่อให้วางแผนพัฒนาแรงงานในอนาคต และรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุค 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถรู้ความเคลื่อนไหวด้านแรงงานได้อย่างรวดเร็ว และเป็นระบบ สามารถใช้เลข 13 หลัก จากบัตรประจำตัวประชาชน ป้อนเข้าสู่ระบบและทราบว่าบุคคลนั้น มีหรือไม่มีงานทำ ถ้ามีงานทำ อยู่ที่ไหน เงินเดือนเท่าไร มีสวัสดิการอะไรบ้าง และแนวโน้มความต้องการด้านแรงงานของแต่ละพื้นที่ แต่ละสถานประกอบการเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังจะเป็นแหล่งศึกษาวิจัยด้านแรงงานโดยเฉพาะตามโจทย์ที่ได้รับ เพื่อให้สามารถนำไปประเมิน หรือต่อยอดได้” นายจรินทร์ กล่าว

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า แผนงานนี้เป็นไปตามที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน หารือร่วมกับ ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ เตรียมจัดตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ (National Labour Information Center: NLRC) และการบริหารจัดการฐานข้อมูล (Big data) ด้านแรงงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด (Disruptive technology) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในยุค 4.0 ที่คาดว่าจะส่งผลต่อตลาดแรงงานทั้งในระบบ นอกระบบ และผู้ประกอบการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวง เพื่อกำหนดแนวทางการจัดตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบโครงการวิจัยของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน โครงการวิจัยในปีงบประมาณ 2562 โครงการวิจัยที่ดำเนินการในปีงบประมาณ 2560 และปีงบประมาณ 2561 ผลการประชุมหารือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาข้อมูลรองรับศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ โครงการพัฒนาระบบ Job Demand Open Platform เพื่อสนับสนุนการจัดเตรียมแรงงานและการพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และความต้องการแรงงานในอนาคตของประเทศ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาถึงร่างแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ และจัดตั้งหน่วยประสานงานวิจัยแรงงานแห่งชาติ และร่างโรดแมป (Road Map) การดำเนินงานของศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ การเตรียมจัดสัมมนาเชิงวิชาการในวันที่ 26 ธันวาคม 2561 และโครงการพัฒนานักยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image