ม.รังสิต โพสต์จัดหนัก! ถามปม ‘สิทธิบัตรกัญชา’ ยังข้องใจรมว.สุวิทย์

ขณะนี้ในสังคมออนไลน์ มีการแชร์ข้อมูลจาก นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

โดยระบุว่า แชร์ไป! ใครอยู่เบื้องหลัง ยุครัฐบาลบิ๊กตู่ ประกาศ 6 โฆษณาคำขอสิทธิบัตรกัญชาให้กับ “กลุ่มโอซูกะ และ จีดับเบิลยู”เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น

ภาพถ่ายที่ “นายสุวิทย์ เมษินทรีย์” ได้เข้าเยื่ยมบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 นั้น จะไม่ควรเป็นประเด็นพิรุธใดๆเลย ถ้าไม่เกิดเหตุการสัมภาษณ์ของนายสุวิทย์ เพื่อตอบโต้ประเด็นดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 ลงในมติชนออนไลน์ โดยมีข้อความสำคัญคือ :

ยืนยันว่า ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขอจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาในทุกๆ ทาง โดยรูปถ่ายการเข้าเยี่ยมบริษัทดังกล่าว เป็นเรื่องปกติ ไปเยี่ยมชมโรงงานก็มีการถ่ายรูปที่ระลึกกันธรรมดา”

Advertisement

หากจะมีใครสงสัยว่า มติชนออนไลน์ลงข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อนก็ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้นำลิงค์ข่าวดังกล่าวข้างต้นมาลงเผยแพร่ในเฟสบุ๊คของตัวเองเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 เวลา 14.49 น. ย่อมแสดงว่านายสุวิทย์น่าจะเห็นชอบด้วยกับข้อความในข่าวดังกล่าวแล้ว ใช่หรือไม่?

จากการสัมภาษณ์ของนายสุวิทย์เมื่อวันที่ 1 และ 2 ธันวาคม 2561 จึงทำให้เกิดประเด็นคำถามตามมาคือ

1. บริษัท โอซูกะ ประเทศญี่ปุ่น “ไม่เกี่ยวข้อง” กับ บริษัท ไทยโอซูก้า ประเทศไทย จริงหรือ?

Advertisement

2. ในบทความตอนที่แล้วได้เปิดเผยว่า ในสมัยที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรเกี่ยวกับสารสกัดกัญชาและการนำสารสกัดกัญชาไปใช้อย่างน้อย 2 คำขอ ใช่หรือไม่? ซึ่งในช่วงเวลานั้น นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ก็เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล “กรมทรัพย์สินทางปัญญา” ด้วยใช่หรือไม่?

และทั้ง 2 คำขอก็ปรากฏชื่อ “ผู้รับคำขอสิทธิบัตรร่วม”ในสารสกัดกัญชาหรือการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ คือ บริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา กับ บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล คอมปานี ลิมิเต็ด ประเทศญี่ปุ่น ใช่หรือไม่? และบริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล คอมปานี ลิมิเต็ด ประเทศญี่ปุ่นนี้ ก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 30% ในบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด ด้วยถูกต้องหรือไม่?

อย่างไรก็ตามในบรรดาขั้นตอนการจดสิทธิบัตรนั้น ขั้นตอนหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างย่ิงก็คือการ “ตรวจสอบเบื้องต้น” เพราะถ้าตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้องก็สามารถที่จะยกคำขอ หรือให้แก้ไขในเวลาที่กำหนด แต่ถ้าตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่าถูกต้องแล้ว ผู้ยื่นคำขอก็จะต้องชำระค่าธรรมเนียมการประกาศ หลังจากนั้นกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็จะดำเนินการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรนั้น เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียขอให้มีการตรวจสอบและคัดค้านในเวลาที่กำหนด

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าขั้นตอนการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตร จึงย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการยืนยันว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว เห็นว่าสิทธิบัตรมีความถูกต้อง แต่ที่จะมองข้ามไม่ได้ก็คือข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพีซีที จะขัดหรือแย้งกฎหมายของไทยไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกัญชาอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ใครจะมาอ้างว่าเป็นการจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชา หรือการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์ก็ย่อมไม่สามารถทำได้ทั้งนั้น จริงหรือไม่?

นอกจากนั้นในตำราการแพทย์แผนไทยได้ระบุในเรื่องกัญชาเป็นสมุนไพรอยู่ตำรับยาจำนวนมาก ในการช่วยรักษาทำให้นอนหลับ เจริญอาหาร และรักษาอาการระบบประสาทในการเกร็งหรือชัก ฯลฯ ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ดังนั้นจะให้ต่างชาติมาจดสิทธิบัตรกัญชาตามอำเภอใจมิได้

แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือการปล่อยให้มีการประกาศโฆษณาคำขอการจดสิทธิบัตรต่างชาติในเรื่องสารสกัดกัญชา หรือการนำสารสกัดกัญชาไปใช้นั้น ก็เพื่อเตรียมการ “ดักหน้า” รอให้มีการปลดล็อกกัญชาให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น การจดสิทธิบัตรของต่างชาติเหล่านั้นก็ย่อมจะมีผลใช้บังคับใช้ได้ทันที ใช่หรือไม่?

แต่เมื่อตรวจสอบดูแล้วนับตั้งแต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน พบว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับสารสกัดกัญชา หรือการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์จำนวนถึง 6 ฉบับ

แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตร ทั้ง 6 ฉบับ มีผู้ขอรับสิทธิบัตรเป็นรายเดียวกันทั้งหมด โดยเป็นการขอรับสิทธิบัตรร่วมกันระหว่าง “โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล และจีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด”

สิทธิบัตรสารสกัดกัญชาและการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ทั้ง 6 ฉบับนั้น ครอบคลุมไปถึง การรักษาโรคลมบ้าหมู โรคลมชัก โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ ใช้ร่วมกับยาต้านโรคจิต ฯลฯ เป็นสารสกัดจากพืช เป็นยาเสพติดขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการขัดต่อ พรบ.สิทธิบัตรในมาตรา 9 ทั้งส้ิน จริงหรือไม่?

โดยในการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาหรือการนำสารสกัดกัญชาไปใช้จำนวน 6 ฉบับนั้น ปรากฏว่า 2 ฉบับเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2557

อย่างไรก็ตาม นายปานเทพ ได้โพสต์ข้อความโดยทิ้งท้ายว่า ในวันข้างหน้าเมื่อกฎหมายปลดล็อกกัญชาให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์แล้ว บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด ก็อาจจะเป็นผู้นำเข้ายาที่มีสารสกัดกัญชา หรือการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ทางการแพทย์ จาก บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล และจีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด ซึ่งได้ยื่นคำขอสิทธิบัตรเกี่ยวกับสารสกัดกัญชาร่วมกับจีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด มาก่อนล่วงหน้าแล้วก็ได้ ใช่หรือไม่?

ดังนั้นหลังจากนี้เป็นต้นไป ขอให้ประชาชนจับตาว่ากระทรวงพาณิชย์จะยกเลิกสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาและการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ทางการแพทย์ทั้งหมดหรือไม่ และสิทธิบัตรของกลุ่มโอซูกะและจีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด จะถูกยกเลิกทั้งหมดหรือไม่ ถึงเวลานั้นประชาชนก็คงหาคำตอบชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลชุดนี้และพรรคพลังประชารัฐจะมีจุดยืนในเรื่องกัญชาว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน หรือเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนบริษัทยาข้ามชาติอย่างถูกต้องหรือไม่ อย่างไร?

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image