อธิบดี กสร.ชี้ กม.ใหม่เพิ่มภาระ ‘นายจ้าง’ เร่งส่งเจ้าหน้าที่สร้างความเข้าใจ

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ว่า การยกร่างกฎหมายดังกล่าวทำโดยคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายภาครัฐ และได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายตามมาตรา 77 รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจากหน่วยงานภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชนทั่วไป จำนวน 297 คน รวมทั้งได้เปิดรับฟังผ่านเว็บไซต์ กสร. www.labour.go.th ระหว่างวันที่ 24 เมษายน ถึง วันที่ 26 พฤษภาคม 2560 มีผู้สนใจเข้าชมเพื่อศึกษาร่างกฎหมาย จำนวน 235 คน

“โดยความเห็นที่ผ่านทั้ง 2 ช่องทาง ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการ เนื่องจากเป็นการขยายการให้ความคุ้มครองลูกจ้างมากขึ้น แม้ว่าจะมีบางส่วนที่เห็นว่าอาจเพิ่มภาระให้นายจ้าง ซึ่งก็ได้นำผลการรับฟังมาวิเคราะห์ผลกระทบและจัดทำคำชี้แจงเหตุผลและเปิดเผยให้ประชาชนทราบทางเว็บไซต์ของ กสร.มาโดยตลอด นอกจากนี้ ในการพิจารณาร่างของ สนช.ก็ได้นำผลการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการพิจารณาด้วยเช่นกัน” นายวิวัฒน์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิของผู้ทำงานที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน โดยคำนึงถึงผู้ที่ทำงานกับนายจ้างมาเป็นเวลายาวนาน 20 ปีขึ้นไป ให้ได้ค่าชดเชยที่เหมาะสม และเป็นหลักประกันในกรณีที่ต้องออกจากงานในขณะที่เป็นผู้สูงวัย รวมทั้งได้เพิ่มสิทธิให้ลูกจ้างลากิจได้ปีละ 3 วันโดยได้รับค่าจ้าง และคุ้มครองดูแลสิทธิของแรงงานสตรีให้ได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกับแรงงานชายหากทำงานที่มีค่าเท่าเทียมกัน ตลอดจนดูแลแรงงานสตรีที่ตั้งครรภ์ โดยเพิ่มจำนวนวันลาคลอด เพื่อให้ครอบคลุมช่วงการตรวจครรภ์ด้วย

นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับบทบัญญัติบางประการ อาทิ การเพิ่มสิทธิค่าชดเชย 400 วัน ให้ลูกจ้างที่อายุงาน 20 ปีขึ้นไป และถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด อาจจะเป็นการเพิ่มภาระให้นายจ้างบ้าง แต่เป็นไปตามหลักการของกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกจ้างที่ทำงานมายาวนาน มีอายุมาก หากถูกเลิกจ้าง หรือเกษียณอายุตามข้อบังคับของนายจ้างให้สามารถดำรงชีพได้ภายหลังจากออกจากงานไปแล้วและอาจหางานใหม่ได้ยาก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ฉบับดังกล่าว ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และก่อนที่กฎหมายฉบับแก้ไขนี้จะมีผลบังคับใช้ กสร.จะได้เร่งสร้างความเข้าใจแก่นายจ้างและลูกจ้างทั่วประเทศ ทั้งในส่วนของหลักการและเหตุผลของกฎหมาย และแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย ที่ได้มีการปรับปรุงเพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้าง สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้องภายใต้ความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image