เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพฯ ยังไม่พอใจ สธ.-สบช. ปรับ ‘สัญญาทุน’ ใหม่ ชี้มีหลายประเด็นไม่ชัดเจน

เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพฯ ยังไม่พอใจ สธ.-สบช. ปรับ ‘สัญญาทุน’ ใหม่ ชี้มีหลายประเด็นไม่ชัดเจน เร่งสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมใช้เป็นหลักฐานเรียกร้องต่อผู้บริหาร

สัญญาทุนพยาบาล — ความคืบหน้ากรณีเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาเรียกร้องสัญญาทุนนักเรียนพยาบาลไม่เป็นธรรม พร้อมเข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.สุขุม พิมาย ปลัด สธ.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่าสัญญาดังกล่าวมีการบังคับใช้ทุนโดยให้เป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งต้องปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัด สธ. ต่างจากเกณฑ์กำหนดเดิมที่ให้บรรจุเป็นข้าราชการเหมือนแพทย์ และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง กระทั่งล่าสุด สธ.ได้ร่วมกับสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ที่รับผิดชอบผลิตพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลสังกัด สธ. หารือจนได้ข้อสรุปจะปรับแก้สัญญาทุนนักเรียนพยาบาลใหม่ โดยประเด็นหลัก 1.ตัดคำว่า “ลูกจ้างชั่วคราว” เป็น “ปฏิบัติงานใน สธ.” 2.ปรับเพิ่มค่าใช้จ่าย จากเดิมปีละ 30,000 บาท เป็น 40,000 บาท และให้ 3.การปรับแก้สัญญาใหม่จะมีผลในการภาคการศึกษาต่อไป ภายในต้นปี 2562 นั้น

● เครือข่ายพยาบาลฯยื่นหนังสือร้องสัญญาทุนไม่เป็นธรรม ถกหาทางออก 13 ธ.ค.

● สธ.นัดหารือปมสัญญาทุนเล่าเรียน ‘พยาบาล’ หลังถูกร้องไม่เป็นธรรม

Advertisement

● พยาบาลระทมทุกข์! ถูกบังคับสัญญาทุนเรียน 4 ปี ต้องเป็น ‘ลูกจ้างชั่วคราว’

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม น.ส.วราพร กวีวิทยาภรณ์ เลขานุการเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว สธ. เปิดเผยว่า พึงพอใจในการแก้ปัญหาเรื่องสัญญาทุนนักเรียนพยาบาลในระดับหนึ่ง แต่ยังมีข้อกังวล ประเด็นแรก เครือข่ายยังมีความกังวลในประเด็นการใช้ทุนคืน ซึ่ง สธ.ยังไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจน ส่วนนี้เครือข่ายจะต้องติดตามผลอย่างต่อเนื่องว่า สธ.จะดำเนินการอย่างไร ประเด็นที่สอง การประกาศรับสมัครนักเรียนทุนพยาบาล และการปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายของนักเรียนทุนเดิมเป็นปีละ 40,000 บาท นั้น โดยข้อเท็จจริงนักเรียนทุนพยาบาลไม่อยากได้ส่วนค่าใช้จ่ายดังกล่าว อยากให้ปรับเปลี่ยนการเพิ่มค่าใช้จ่ายเป็นทุนรัฐบาลมากกว่า

“แต่อย่างไรก็ดี มองว่าการเพิ่มเงินเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าที่ดี เพราะเพิ่มเงินขึ้นมา 10,000 บาท ก็ย่อมดีกว่าเดิมอยู่แล้ว ดีกว่า สธ.ไม่ทำอะไรเลย แต่ สธ.ต้องไม่ลืมว่า ค่าใช้จ่ายแท้จริงในการผลิตพยาบาลอยู่ที่ 140,000 บาทต่อคนต่อปี ทั้งนี้ สบช.แจ้งว่า ทุนดังกล่าวจะเป็นทุนให้เปล่า แต่การใช้เงินมีเกณฑ์กำหนดระบุชัดว่า ต้องใช้เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และการที่ สธ.ยิ่งให้ทุนเพิ่มขึ้น พยาบาลต้องใช้ทุนคืนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน รวมทั้งอยากให้ สธ.ปรับระยะเวลาในการใช้ทุนให้สั้นลงจาก 4 ปี เป็น 2 ปี เพื่อไม่ให้เป็นการผูกมัดมากจนเกินไป ให้สมดุลและยุติธรรมเช่นเดียวกับแพทย์ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่ตรงจุด” น.ส.วราพร กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ น.ส.วราพร กล่าวว่า ประเด็นที่สาม การตัดคำว่า “ลูกจ้างชั่วคราว” ให้เป็น “ปฏิบัติงานใน สธ.” นั้น สธ.ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นลูกจ้างแบบไหน โดยการตัดคำว่าลูกจ้างชั่วคราวนั้น ต้องระบุว่า “เป็นการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องใน สธ.” เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ต้องไม่เป็นลูกจ้างรายคาบ หรือรายเดือน และต้องจ้างอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก สธ.ดำเนินการให้นักเรียนทุนเข้ามาปฏิบัติงานใน สธ. จะกระทบต่ออัตรากำลังที่มีอยู่หรือไม่ น.ส.วราพร กล่าวว่า ส่วนนี้ ยืนยันว่าปัจจุบันพยาบาลวิชาชีพของ สธ. ยังขาดอัตรากำลังถึงร้อยละ 20 หรือประมาณ 14,000 ตำแหน่ง สอดคล้องกับจำนวนของนักเรียนทุนพยาบาลที่ไม่ได้บรรจุมาตั้งแต่ปี 2558 ประมาณ 10,000 คน และมีนักเรียนทุนที่กำลังศึกษาอยู่ ประมาณ 3,000 คน ถือเป็นสัดส่วนที่สอดคล้องกับอัตราขาดแคลน ส่วนนี้ยังไม่รวมถึงตำแหน่งที่จะมีการเกษียณอายุราชการ

“ส่วนประเด็นการปรับเปลี่ยนสัญญาจะมีผลในปีการศึกษา 2561 หรือไม่เกินต้นปี 2562 นั้น เครือข่ายมีความพึงพอใจ แต่ก็ไม่ได้เร่งรัดให้ สธ.ดำเนินการเสร็จวันนี้ หรือพรุ่งนี้ เพียงเพราะเครือข่ายเสนอให้ สธ. ปรับแก้สัญญาให้ดีขึ้น การตัดคำว่าลูกจ้างชั่วคราว ผลการปรับเปลี่ยนสัญญามีผลในปี 2562 ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะเครือข่ายต้องการให้สัญญาทุนนักเรียนพยาบาล กลับมาเป็นทุนรัฐบาลเหมือนเดิม และอีกประเด็นสำคัญที่ สบช.ยืนยันเสียงแข็งว่า นักเรียนพยาบาลทุนที่ทำงานใน สธ. เช่น ทำงานบรรจุในโรงพยาบาล ก. ต่อมาได้รับการบรรจุในกรมการแพทย์ ไม่ใช่ สธ. รวมถึงไปสังกัดยังกรมอื่นของ สธ. ไม่จำเป็นต้องใช้ทุน แต่ความจริงแล้วทุกวันนี้ยังต้องใช้ทุนคืนทุกคน ต้องควักเนื้อจ่ายเอง โดยขณะนี้มีที่ร้องเรียนเข้ามา 100 กว่าคน แถม สบช.ยังโบ้ยอีกว่า ไม่จริง ให้ไปหาหลักฐานมา โต้ว่าไปเอามูลมาจากไหน ทั้งที่เครือข่ายถือข้อมูลชุดนี้ไว้ในมืออยู่แล้ว แต่กลับไม่รับฟัง ดังนั้นผู้บริหาร สธ.และ สบช. ต้องรับผิดชอบคำพูดนี้ด้วย หากยืนยันเสียงแข็งเช่นนั้น รวมถึงต้องชดใช้เงินทุนส่วนนั้นคืนแก่นักเรียนทุนพยาบาลที่ใช้ทุนคืนไปแล้วทั้งหมด เบื้องต้น คิดคร่าวๆ 100 คน คูณกับเงินทุนขั้นต่ำที่ต้องใช้ 150,000 บาท รวมประมาณ 15 ล้านบาท ที่ สธ.ต้องชดใช้ ไม่ใช่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ต้องจ่าย” น.ส.วราพร กล่าว

น.ส.วราพร กล่าวอีกว่า ยกตัวอย่าง นักเรียนทุนรายหนึ่งที่บรรจุไปทำงานในกรมสุขภาพจิต แม้อยู่ในหน่วยงานสังกัด สธ.ก็ตาม ต่อมาเคยทำเรื่องขออุทธรณ์ไปยัง สธ. แต่เรื่องกลับถูกตีตกไป โดยนักเรียนรายนี้ต้องกู้เงินเพื่อปิดบัญชีทันที 174,000 บาท โดยที่ไม่สามารถทยอยหรือผ่อนจ่ายคืนทุนได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด แล้วเช่นนี้คุณภาพชีวิตของพยาบาลวิชาชีพอยู่ที่ไหน ต้องใช้เงินทุนคืนบวกกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
น.ส.วราพร กล่าวว่า หลังจากนี้ เครือข่ายจะร่วมกับกองการพยาบาลดำเนินการจัดทำแบบสอบถามสำรวจเพื่อติดตามบัณฑิต รวมถึงคุณภาพชีวิต เช่น เงินเดือนที่ได้รับ ต้องใช้จ่ายทุนคืนเท่าไร ตำแหน่งที่ได้รับปัจจุบัน ฯลฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลเป็นระบบ (Data Base) นำไปโต้แย้งกับ สธ.

“ขณะนี้ สธ.เองยังไม่กล้าตอบเลยว่า ทุกวันนี้ได้จ่ายค่าตอบแทนพยาบาลวิชาชีพเท่าไร ทั้งที่มีข้อมูลอยู่แล้ว ขณะที่ ข้อมูลเครือข่ายปรากฎว่า ค่าจ้างพยาบาลวิชาชีพชั่วคราวขั้นต่ำสุด 15,000 บาทต่อเดือน บางโรงพยาบาลไม่ได้เงินถึงอัตราดังกล่าวด้วยซ้ำ โดยเมื่อปี 2555 ขณะที่ตนเป็นลูกจ้างชั่วคราว ขณะนั้น ยังได้รับเงินเดือน 14,200 บาท และมีค่าเช่าบ้าน 2,000 บาท ส่วน สสจ.จะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 11,500 บาท และสูงสุด 14,300 บาท ส่วนพนักงานกระทรวงก็มากกว่า 15,000 บาท อยู่แล้ว ทั้งนี้ เครือข่ายจะร่วมติดตามการแก้ไขปัญหาของ สธ.ต่อเนื่อง รวมถึงติดตามผลการปรับสัญญาใหม่ที่จะมีผลภายในต้นปี 2562 ด้วย” น.ส.วราพร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image