‘หมอจุฬาฯ’ ไม่ขัด อภ.ปลูก ‘กัญชา’ ใช้ทางการแพทย์ แต่ห่วงกำลังผลิตน้อย แนะทำดึงพวกใต้ดินเข้าร่วม

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการพิจารณาการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) มีแผนปลูกพืชกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์เอง โดยเห็นชอบอนุมัติประมาณ 10 ล้านบาท ดำเนินการในระยะเร่งด่วนและระยะกึ่งอุตสาหกรรม ปลูกกัญชาที่บริเวณชั้น 2 อาคารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ โรงงานผลิตยารังสิต จากนั้นจะขยายผลไปในระยะกลาง และระยะยาว ตามลำดับ เนื่องจากพบปัญหาว่ากัญชาของกลางปนเปื้อนสารเคมีจนไม่สามารถสกัดเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้นั้น ว่า ไม่ขัดข้องกับแนวทางของ อภ. แต่เห็นว่าแนวทางนี้อาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์

“ทั้งนี้ จากการประเมินตามแผนดำเนินการเบื้องต้น ที่ อภ.จะปลูกในระยะเร่งด่วนนั้นเป็นการดำเนินการในพื้นที่เพียง 100 ตารางเมตร (ตร.ม.) ถัดจากนั้นคาดว่าจะปลูกในพื้นที่ประมาณ 1,000 ตร.ม. ซึ่งกว่าจะได้ผลผลิตประมาณปลายปี 2563 สำหรับการปลูกในระยะเร่งด่วนนั้น อาจจะได้วัตถุดิบช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งจะสามารถสกัดกัญชาได้เพียง 2,500 หลอด เฉลี่ยหลอดละ 5 ซีซี. หรือเพียง 10 หยดเท่านั้น ทั้งๆ ที่กำลังความสามารถในการผลิตของ อภ.ได้ถึง 60,000 หลอดต่อเดือน แต่ปัญหาขณะนี้คือ ไม่มีวัตถุดิบที่จะป้อนเข้าสู่กระบวนการหรือสายพานการผลิต” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวและว่า ในความเห็นส่วนตัวนั้น เสนอให้หน่วยราชการเจรจากับกลุ่มใต้ดินที่ครอบครองพืชกัญชา และรวมถึงนำพืชกัญชาของกลางมาตรวจสอบคุณภาพ หากไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีให้นำเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า แนวทางดังกล่าวเสนอให้ดำเนินการทันทีควบคู่ไปกับการดำเนินการปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์ เพราะหากช้าไปกว่านี้จะยิ่งเป็นผลเสียโดยเฉพาะกับผู้ป่วย ทั้งนี้ หากสามารถผลิตสารสกัดกัญชาได้เดือนละ 2,500 หลอด จะสามารถใช้สารสกัดกัญชาได้กับผู้ป่วย 1,042 ราย โดยในสารสกัดกัญชา 1 หยด จะได้สาร THC (Tetrahydrocannabinol) 0.5 มิลลิกรัม ถ้าใช้กับผู้ป่วย 1,042 ราย จะได้รับคนละ 4 หยดต่อวัน แต่ถ้าสามารถผลิตได้วันละ 60,000 หลอด จะใช้กับผู้ป่วยได้ถึง 25,000 ราย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก

“ขอย้ำว่า สารสกัดกัญชานี้ สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีอาการแข็งเกร็ง เด็กหลังคลอดที่มีภาวะสมองพิการหรือเจริญเติบโตผิดปกติ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดทรมาน ผู้ป่วยที่มีภาวะปฏิเสธอาหาร ซึมเศร้า หดหู่ ผู้ป่วยพาร์กินสันและโรคสมองเสื่อม ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคจิตเภท ผู้ป่วยมะเร็ง โดยทุกโรคควรจะเป็นการใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันที่แพทย์สั่งให้ ยกเว้นกลุ่มอาการปวดเมื่อยทั่วไปที่อาจจะใช้สารสกัดกัญชาเพียงอย่างเดียวเพื่อบรรเทาอาการ โดยไม่จำเป็นต้องกินยาก็ได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image