‘สัปดาห์ รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย’ เมื่อคนไทยตายจากเชื้อดื้อยาปีละ 3.8หมื่นคน

“สัปดาห์ รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย หรือ Antibiotic Awareness Week” เป็นกิจกรรมที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสำคัญในการรณรงค์ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ ยาต้านแบคทีเรียอย่างสมเหตุสมผลและมีความรับผิดชอบ เพื่อให้ยายังคงมีประสิทธิผลในการรักษา และเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อดื้อยา โดยงานนี้หลายประเทศทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียต่างให้ความสนใจ ขณะที่ไทยเป็นประเทศต้นๆ ในเอเชียที่เริ่มจัดงานนี้มาตั้งแต่ปี 2556 โดยปีนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับบริษัท ยิบอินซอย จำกัด กลุ่มใบไม้ในเมือง และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดกิจกรรม “ใบไม้รักษ์โลก Episode 3 : ยา อย่า Yah!” บริเวณลานใบไม้ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ และป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยา เนื่องในสัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ซึ่งในแต่ละปีจะมีประเด็นหลักแตกต่างกันไป

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.กล่าวว่า ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ ไม่ถูกต้องและเหมาะสม ทำให้แบคทีเรียปรับตัวดื้อยาและทำให้ยาหลายชนิดไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคที่เคยรักษาได้อีกต่อไป สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก พบมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาราวปีละ 700,000 คน โดยประเทศแถบเอเชียมีคนเสียชีวิตมากที่สุดถึงปีละ 4.7 ล้านคน หากไม่เร่งแก้ไขคาดปี 2593 จะมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 10 ล้านคน

Advertisement

“ขณะที่ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประเมินว่า คนไทยติดเชื้อแบคทีเรียปีละ 80,000 คน และเสียชีวิตปีละ 38,000 บาท คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมถึงปีละ 4 หมื่นล้านบาท ทำให้ต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้มีแผนยุทธศาสตร์จัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย ปี 2560-2564 โดยมีเป้าหมายภายในปี 2564 ให้ 1.ลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาร้อยละ 50 2.การใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์และสัตว์ลดลงร้อยละ 20-30 3.ประชาชนมีความรู้เรื่องดื้อยา และตระหนักการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และ 4. ไทยมีระบบจัดการ การดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล” ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว

ทพ.ศิริเกียรติ กล่าวว่า โดยหลักเน้นให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ทั้งในปศุสัตว์ ประมงและการปลูกพืช และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ควบคุมการจำหน่ายยาปฏิชีวนะตามร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านโชห่วยและร้านชำ โดยเฉพาะพื้นที่ชานเมืองและท้องถิ่น รวมถึง สธ. โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งทบทวนทะเบียนตำรับยาเก่าที่มีสูตรและรูปแบบที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ส่วนการสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนตระหนักและมีความรู้ความเข้าใจ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมดำเนินการ โดยปัจจุบันมี กพย.เป็นเจ้าภาพจัดงานมาต่อเนื่องทุกปี

Advertisement

“ช่วง 2-3 ปีหลัง เห็นความเปลี่ยนแปลงประชาชนเริ่มตระหนักใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม พบประชาชนเริ่มมีความเข้าใจในการลดใช้ยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะโรคหวัด เจ็บคอและโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันหรือท้องเสีย ซึ่งมีผลวิจัยระบุชัดเจนว่าร้อยละ 80 เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นการทานยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็น ทำให้เกิดความเสี่ยงเกิดเชื้อดื้อยา ไม่รักษาโรคและทำลายภูมิดีในร่างกาย ส่วนข้อแนะนำต่อประชาชนนั้น ขอให้สอบถามแพทย์หรือผู้จ่ายยาให้มั่นใจทุกครั้งว่าโรคที่เป็นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ เพื่อปฏิเสธรับยาต้านแบคทีเรีย” ทพ.ศิริเกียรติกล่าว และว่า ทั้งนี้ สสส. กพย.และภาคีเครือข่าย คาดหวังให้ประชาชนตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยาและเกิดพฤติกรรมการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างถูกต้อง ส่วนผู้จ่ายยา เภสัชกรตามร้านขายยาต้องให้ความรู้ประชาชนและจ่ายยาให้ตรงกับโรค รวมถึงรัฐต้องออกมาตรการควบคุมร้านขายของชำทั่วประเทศ ห้ามขายยาต้านแบคทีเรีย

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา กพย.กล่าวว่า กพย.เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี 2556 โดยแต่ละปีจะมีหลายภาคส่วนร่วมจัดงานขึ้น ซึ่งทั่วโลกยังให้ความสนใจและมีมากกว่า 80 ประเทศร่วมจัดงานปีนี้ เช่นเดียวกับไทยที่ตอบสนองการป้องกันปัญหาดังกล่าว สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อยาแนวโน้มยังไม่ลดลงทันที เพราะแผนยุทธศาสตร์เพิ่งประกาศเมื่อปี 2560 โดยเป้าหมายการป่วยจากเชื้อดื้อยาต้องลดลงร้อยละ 50 มองว่าตั้งเป้าสูงเกินไป เว้นแต่จะมีมาตรการเข้มข้นต่อเนื่อง ขณะนี้เริ่มมีความหวัง เพราะสื่อมวลชนตื่นตัว ทำให้เกิดการสื่อสารวงกว้างต่อประชาชน เช่น คนเริ่มรู้จักเชื้อดื้อยา เริ่มปฏิเสธรับยาต้านแบคทีเรีย หน่วยงานเกี่ยวข้องเริ่มทำงานเชิงรุก ฯลฯ ทว่าสิ่งสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ต้องสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจตั้งแต่วัยเด็ก โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยาและยาต้านแบคทีเรียในหลักสูตรการเรียนการสอน

“ตอนนี้คนไทยไม่ได้รู้สึกว่าเชื้อดื้อยาเป็นปัญหา และควรทานยาต้านแบคทีเรียในกรณีจำเป็น ขณะที่หลายประเทศต่างให้ความสำคัญมาก เช่น ออสเตรเลียปลูกฝังและรณรงค์ให้ประชาชนตั้งแต่วัยเรียนว่าการใช้ยาต้านแบคทีเรียไม่ถูกต้องทำให้ดื้อยา การดื้อยาทำให้ต้านแบคทีเรียไม่ได้ผลและเมื่อเกิดโรคติดเชื้อบางอย่างไม่อาจรักษาได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เป็นต้น ดังนั้น จะทำอย่างไรให้คนไทยตระหนักรู้ว่ายาต้านแบคทีเรียนั้นเป็นอันตราย ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ตลอดจนยาอื่น เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาลดความอ้วน ซึ่งคนไทยนิยมหาซื้อมากินอย่างไม่สนใจว่า ร่างกายจะผุพัง แทนที่จะมีการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว

ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า โรคหวัด โรคท้องเสียและแผลสดจากอุบัติเหตุ หรือแผลเลือดออกเป็นโรคที่รักษาได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากร้อยละ 80 ของโรคไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะโรคหวัดที่คนไทยส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดว่า เป็นหวัดเจ็บคอ ต้องกินยาต้านแบคทีเรียถึงจะหายหรือที่ชาวบ้านเข้าใจผิดและเรียกผิดว่าเป็น “ยาแก้อักเสบ” แต่ความจริงแล้ว การกินยาต้านแบคทีเรียเมื่อเป็นหวัดเจ็บคอ นอกจากจะไม่ช่วยให้หายเร็วขึ้น ยังทำให้เกิดเชื้อดื้อยาขึ้นในร่างกาย หากวันข้างหน้ามีอาการป่วยหนักจากการติดเชื้อในอวัยวะที่สำคัญ จะทำให้ยาใช้ไม่ได้ผลและส่งผลอันตรายต่อชีวิต

นอกจากนี้ ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวถึงการรักษาโรคหวัดว่า อาการไข้หวัดอาจมี อาการไข้ 3-4 วัน น้ำมูก 5-7 วัน เจ็บคอ 4-5 วันและไอนานถึง 7-21 วัน ซึ่งจะหายเป็นปกติ โดยพักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำอุ่นมากขึ้น เพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่น เพราะเมื่อร่างกายมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรค อาการโรคหวัดจะหาย กรณีที่มีอาการมาก อาจใช้ยารักษาตามอาการที่จำเป็น เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาบรรเทาอาการไอ และไม่แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคหวัด เพราะอาจเกิดอาการแพ้ยา เช่น ปากดำ หอบ หายใจติดขัด หรือมีผลข้างเคียงจากยาปฏิชีวนะรุนแรงถึงชีวิต เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ทำให้กลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยาและเป็นกรรมพันธุ์ส่งต่อบุตรหลาน

จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยที่ต้องแสดงความมุ่งมั่นในการร่วมแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพเช่นเดียวกับนานาประเทศทั่วโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image