11 ม.ค.นี้ ลุ้นคำตอบยกเลิก 7 สิทธิบัตรกัญชา จะอยู่หรือจะไป

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 7 มกราคม ที่อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคีเครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคม 16 องค์กร อาทิ เครือข่ายการศึกษาพืชกระท่อม-กัญชา มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.) มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส.) มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย (มพท.) มูลนิธิเภสัชชนบท (มภช.) เครือข่ายมะเร็งและกลุ่มดูแลประคับประคอง เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ฯลฯ นำโดย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดประชุมวิชาการและแถลงข่าวในหัวข้อ สิทธิกัญชา “ใครได้ใครเสีย” และข้อเสนอแนะต่อร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งมี ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการกพย. ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รศ.ดร.เจษฏ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์​ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณะบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต นายวิทูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลินิธิชีววิถี (ไบโอไทย) และนายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ (มธ.) และกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมเป็นวิทยากรและผู้แถลงข่าว

นายวิทูรย์ กล่าวว่า ในเวลา 10.00 น.ของวันที่ 11 มกราคม ที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ได้นัดหมายภาคเครือข่ายร่วมหารือเกี่ยวกับประเด็นการยื่นจดสิทธิบัตรกัญชา โดยทางภาคีเครือข่ายได้จัดเตรียมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ร่วมหารือกับรัฐมนตรีในวันดังกล่าวด้วย พร้อมลุ้นคำตอบและและทางออกของสิทธิบัตรที่ยังไม่ได้ยกเลิก รวม 7 คำขอ ซึ่งยืนยันว่าทุกคำขอยังขัดต่อกฎหมาย ปัจจุบันการขอจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาทั่วโลกราว 3,000 กว่าสิทธิบัตร โดยทุกคำขอเกิดขึ้นภายหลังสหรัฐอเมริกาผ่อนปรนกฎหมาย ซึ่งการขอรับการคุ้มครองทางทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับกัญชาในสหรัฐอเมริกาทำได้ผ่านสองรูปแบบ ได้แก่ กฎหมายสิทธิบัตร และกฎหมายสิทธิบัตรปรับปรุงพันธุ์ (การคุ้มครองพันธุ์พืช PBR/PVP) และขณะนี้มีการอนุญาตจดสิทธิบัตรสายพันธุ์กัญชาแล้ว 4 สิทธิบัตรและสิทธิบัตรทางการแพทย์และยาอีกจำนวนมาก แต่ยังไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรคุ้มครองการปรับปรุงพันธุ์ เพราะกัญชายังผิดกฎหมาย ซึ่งไทยน่าจะทำเช่นเดียวกัน

นายวิทูรย์ กล่าวว่า ปรากฎว่า 6 ใน 7 คำขอที่เหลือเป็นของบริษัทจีดับเบิลยูฟาร์มาลิมิเต็ดและโอซึกะฟาร์มาคิวดิคอลคอมปานีลิมิเต็ด โดยนายเจฟฟี่ กาย ผู้ก่อตั้งจีดับเบิลยูฯ เมื่อปี 1998 ได้ร่วมกับนายเดวิด วัตสัน นักล่าสายพันธุ์กัญชา ประกาศรวบรวมสายพันธุ์กัญชาทั่วโลก โดยไทยยังเป็น 1 ในสายพันธุ์กัญชาที่ควรรวบรวมในคำประกาศนั้นด้วย ล่าสุดจากการตรวจสอบข้อมูลเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาพบเดวิดรวบรวมสายพันธุ์กัญชาได้ รวม 29 สายพันธุ์ในเนเธอร์แลนด์ จากทั้งหมด 33 สายพันธุ์ ส่วนที่เหลือยังระบุที่มาของสายพันธุ์ และขณะนี้ได้รับการคุ้มครองทั้งหมดและมีอายุสิทธิบัตร 25 ปี

Advertisement

“ปัจจุบันไทยไม่มีการอนุญาตคุ้มครองสายพันธุ์กัญชาเหมือนเนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาผ่านการเข้าร่วม CPTPP การแก้กฎหมายตาม UPOV 1991 ที่ต้องยอมรับการให้สิทธิบัตรผูกขาดสายพันธุ์กัญชา ผลผลิตและผลิตภัณฑ์กัญชา แต่ไทยมีกฎหมายเฉพาะคล้ายกับ UPOV 1978 ซึ่งเป็นการคุ้มครองพันธุ์พืชแต่ละชนิดที่ขึ้นอยู่กับการประกาศของกรมวิชาการเกษตร ขณะนี้มี 75 สายพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครอง ไม่รวมสายพันธุ์กัญชา หากมีการแก้กฎหมายตาม UPOV 1991 แล้ว ไทยต้องเปิดให้การคุ้มครองสายพันธุ์กัญชาไทยโดยอัตโนมัติ เมื่อกลางเดือนก่อน รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เพิ่งแถลงว่ารัฐบาลไทยประสงค์เข้าร่วม CPTPP ทำให้ไทยจะต้องยอมรับกฎหมาย UPOV 1991 อีกทั้ง เมื่อไม่นานมานี้ตัวแทนระดับสูงเนเธอร์แลนด์ยังเข้าพบผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเจรจาให้ไทยเข้าร่วม UPOV 1991 โดยเร็ว ดังนั้น หากปลดล็อกกฎหมายกัญชาแล้วยังไม่แก้เรื่องสิทธิบัตร การผูกขาดตั้งแต่ต้นทางและปลายทางเกิดขึ้นแน่นอน” นายวิทูรย์ กล่าว

รศ.เจษฏ์ กล่าวว่า ถามว่าใครได้ใครเสีย ต้องตอบว่าลักษณะคำขอจดสิทธิบัตรเป็นระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา หากต้องการให้ไทยต่อสู้อย่างเท่าเทียม ไทยไม่จำเป็นต้องกำหนดกฎเกณฑ์ในลักษณะช่วยกันและบทคุ้มครอง แต่ต้องยอมรับว่าการห้ามไม่ให้ประเทศอื่นเข้ามาหากินในบ้านเรานั้นทำได้ยาก เพราะปัจจุบันความสัมพันธ์แต่ละประเทศผูกโยงกัน แต่ไทยต้องสร้างความได้เปรียบ หรือสนับสนุนให้คนในประเทศสามารถต่อสู้แข่งขันได้ รวมทั้งต้องพิจารณาร่วมกับข้อตกลงที่ทำกับประเทศอื่นด้วย ส่วนใครได้เปรียบ ต้องเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงกว่าอยู่แล้ว ซึ่งคนที่มายื่นจดสิทธิบัตรรู้จักประเทศไทยพอสมควร เพราะเห็นว่าไทยมีความสามารถในการผลักดันหลายเรื่องและกระทรวงพาณิชย์ก็เคยทำมาหลายเรื่องแล้ว ซึ่งในอดีตอาจมีการผลักดันกัญชาและกระท่อมให้ถูกกฎหมายด้วยซ้ำ แต่ประเด็นที่เราเรียกร้องทุกวันนี้ คือ การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

รศ.เจษฏ์ กล่าวว่า สำหรับสาเหตุในการเพิกถอนคำขอรับสิทธิบัตร ได้แก่ การขอรับสารสกัดจากพืชนั้น ไม่สามารถขอจดสิทธิบัตรได้ ทุกวันนี้ยังคงโต้แย้งกันอยู่ว่าอะไรคือสารกัดจากพืช แต่หากตีความโดยตรงไม่ว่าอะไรก็ตามที่สกัดมาจากพืชก็เป็นสารสกัดทั้งหมด หากยังไม่มีการปลดล็อกทางกฎหาย การนำมาใช้ย่อมขัดต่อศีลธรรมอันดี ถามว่าทำไมกรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดสิทธิบัตรตั้งแต่แรก ไม่แปลกใจ เพราะเขารับยื่นจดแบบนี้มาตลอดอยู่แล้ว เนื่องจากคนยื่นจดต้องเสียค่าธรรมเนียม หลายประเทศทำเช่นนี้ บางประเทศยังปล่อยให้สิทธิบัตรออกมาด้วยซ้ำ และปล่อยให้มีการฟ้องร้อง สุดท้ายศาลเพิกถอนสิทธิบัตร เพราะทุกขั้นตอนต้องเสียเงิน เสียค่าจ้างทนายฟ้องร้อง เงินกลับสู่สาธารณะและทุกฝ่ายได้ประโยชน์ แต่บ้านเมืองเราไม่ได้ออกแบบดีขนาดนั้น ดังนั้น ควรตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ต้องไม่รับจดตั้งแต่แรก

Advertisement

“ส่วนข้อเสนอในการปรับปรุงร่างกฎหมาย ต้องบอกตามตรงว่าบ่อยครั้ง การร่างกฎหมายตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญยันประกาศกระทรวง ทบวง กรม ไทยไม่เคยวางแผน ไม่เคยตกลงกัน แม้แต่การลำดับศัพท์ในการร่างกฎหมาย ถ้าการนั่งร่างกฎหมายจะต้องเสียเงิน เสียทอง ค่าประชุมของบรรดาคนยกร่างแล้วกฎหมายตกไป จะเสียเวลาร่างกันทำไม หากยังไม่รู้เทคนิคทางกฎหมายก็ควรยุบสำนักงานกฤษฎีกาทิ้ง หากไม่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ท่านควรเลิกเป็นสนช.ได้แล้ว ตอนนี้มาถึงปลายทางแล้ว ไม่แน่ใจปลดล็อกกฎหมายจะทันหรือไม่ เพราะแม้แต่การเลือกตั้งยังเลื่อนออกไป แต่ต้องลืมไปก่อนว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ดี เพราะมองว่าตอนนี้การปลดล็อกกฎหมายยังมีหนทางที่จะทำได้อยู่ โดยผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสนช. ควรรีบผลักดันไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทย และเห็นควรให้ใช้มาตรา 44 ที่เป็นเหมือนดาบกายสิทธิ์ ควรนำมาใช้ในทางที่เหมาะสม” รศ.เจษฏ์ กล่าว

ผศ.สมชาย กล่าวว่า วิธีแก้ทางเดียว คือ การเซ็ทซีโร่คำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับกัญชาและสารสกัดจากกัญชาทั้งหมด พร้อมมีกฎหมายเปิดให้อนุญาตค้นคว้า วิจัยกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ ส่วนคำขอที่ยื่นมาก่อนแล้วนั้น เป็นการยื่นคำขอที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อกฎหมายไทย โดยปกติกฎหมายที่ไม่ใช่ความผิดในเนื้อหา มันเป็นความผิดเพราะกฎหมายกำหนดเป็นความผิด และจำเป็นต้องมีการขออนุญาตให้ถูกต้อง ช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายฉบับใดก็จะอนุญาตผู้ที่มาขออนุญาต ส่วนการนิรโทษกรรม เมื่อมีการปลดล็อกกัญชาจะต้องนิรโทษกรรมได้เฉพาะ 1.ต้องเป็นของที่มีไว้ในครอบครองเพื่อวิจัย ค้นคว้า การทดสอบ การทดลอง หรือเพื่อการบำบัดรักษาทางการแพทย์ โดยแพทย์และผู้วิจัยควรเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องได้รับการนิรโทษกรรมทันที ซึ่งเนื้อหากฎหมายจะต้องเขียนให้ชัดเจน และ 2.ผู้ที่ใช้เพื่อการบำบัดรักษา รวมถึงผู้ที่ขออนุญาตใช้กัญชาต้องเป็นคนไทย สัญชาติไทยและมีถิ่นฐานพำนักในไทย ส่วนนิติบุคคลต้องจดทะเบียนในไทย

ส่วน ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า ดังนั้น ทางเครือข่ายจึงขอเรียกร้องดังนี้ 1.นิรโทษกรรมตามมาตรา 22 ของร่างพ.ร.บ.ยาเสพติด ไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตร เจตจำนงค์เดิมเพื่อให้ผู้ที่ใช้อยู่แล้วได้รับการคุ้มครองก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ 2.สิทธิบัตรทั้งหมดต้องทำให้โปร่งใส ชัดเจน ชี้แจงรายละเอียดสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาทั้งหมด โดยทางเครือข่ายเห็นพ้องกันว่าคำขอจดสิทธิบัตรไม่ชอบด้วยกฎหมายและเห็นควรให้ยกเลิก โดยเฉพาะมาตรา 9 (4) และ (5) 3.มีหลายขั้นตอนทางกฎหมายที่เห็นว่าสามารถยกเลิกคำขอจดสิทธิบัตรได้ ทั้งการยกเลิก ปฎิเสธ ไม่รับคำขอ พิจารณาคำขอให้ตกไปและแจ้งความขอยกเลิก 4.การผูกขาดกัญชาไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะสิทธิบัตร แต่เกี่ยวกับข้อตกลงอื่น ทั้งการคุ้มครองพันธุ์พืช เมล็ดพันธุ์และการพยายามเข้าร่วม UPOV 1991 เป็นการผูกขาดชัดเจนและส่งผลกระทบเป็นปัญหาต่อไทย และ 5. ปรุงปรุงกระบวนการที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองเมล็ดพันธุ์พืช การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพให้สอดคล้องกับข้อตกลงทางการค้า ระเบียบระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินตามกฎหมายอย่างถูกต้อง รวมทั้งปรับปรุงคู่มือการรับคำขอจดสิทธิบัตร

“ส่วนการร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ทางภาคีเครือข่ายเห็นว่าสิ่งที่ดีของประมวลกฎหมายยาเสพติดน่าจะถูกนำมาบรรจุในเนื้อหาของกฎหมายที่กำลังพิจารณา เช่น มาตรา 26/1 จนถึงมาตรา 26/5 ตลอดจนประเด็นบางอย่างที่ทำให้เกิดปัญหา เช่น มาตรา 28 (3) การจัดประเภทยาเสพติด ต้องรอบคอบและเป็นธรรม รวมทั้งเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลรัฐได้นำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์กับผู้ป่วยที่กำลังรอคอยความหวัง โดยต้องมีการแยกกฎหมายเฉพาะพืชกัญชาและกระท่อมเป็นกฎหมายพิเศษต่างหาก ” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image