นักวิชาการชี้ ‘ฝุ่นพิษ’ มาทุกปี ไม่แรงกว่าในอดีต แต่โซเชียลไปไวทำคนตื่น แนะคุมรถ-จำกัดเข้าพื้นที่

เมื่อวันที่ 15 มกราคม นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกปีในช่วงเวลานี้ เป็นแบบนี้มา 5-6 ปี ไม่ใช่เพิ่งมาเกิด และไม่ได้มีความรุนแรงไปกว่าเดิม

“แต่สาเหตุที่เมื่อก่อนเราไม่ค่อยรู้สึก ทั้งๆ ที่มีปัญหาเกิดขึ้น เป็นเพราะข้อมูลข่าวสารในอดีตมีน้อย การตรวจวัด PM 2.5 ในอดีตก็มีตำแหน่ง สถานีตรวจวัด และการสื่อสารข้อมูลไปยังประชาชนน้อย แต่วันนี้ข้อมูลในโซเชียลเร็ว สถานีตรวจวัดของ คพ.และข้อมูลต่างๆ ก็เพิ่มขึ้น ทำให้มีตัวเลขข้อมูลไปถึงมือประชาชนมากกว่าเดิม และที่ทุกหน่วยงานพยายามทำในขณะนี้ และในปีก่อนๆ ยังไม่ใช่การแก้ไขปัญหา แต่เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งการฉีดน้ำ ล้างถนน แต่ต้นเหตุของปัญหาก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ซึ่งปีหน้าก็จะกลับมาอีก” นายสุพัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ นายสุพัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ค่า PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นในกรุงเทพฯ ซึ่งนักวิชาการหลายคนเห็นตรงกัน คือ 1.รถยนต์ การจราจรที่ติดขัดและปล่อยมลพิษออกมา PM 2.5 ส่วนใหญ่ออกมาจากรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ จากการศึกษาพบว่า เป็นปัญหาหลัก รวมถึงรถโดยสารประจำทางด้วย ยิ่งการจราจรติดขัดมากๆ ก็จะส่งผลให้การระบายมลพิษจากรถยนต์มากขึ้น 2.จากการเผา ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็มีการเผา ทั้งในภาคการเกษตรและเผาขยะ ทำให้มีการกระจายตัวของมลพิษเข้ามาในเขตชั้นใน ส่วนการก่อสร้างรถไฟฟ้าและอาคารคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ก็ส่งผลต่อการหมุนเวียนของอากาศ เดิมกรุงเทพฯ มีตึกสูงไม่มาก การกระจายอากาศจากศูนย์กลางออกไปภายนอกจะดี แต่ขณะนี้ตึกสูงเรียงเป็นกำแพง ปิดกั้นทำให้อากาศไหลออกไม่ได้

นายสุพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหาให้ยั่งยืนนั้น ต้องควบคุมรถยนต์ ทั้งใช้รถที่ได้มาตรฐานยูโร 5-6 เชื้อเพลิงมีกำมะถันไม่เกิน 10 พีทีเอ็ม จำกัดจำนวนรถ เป็นต้น ทั้งนี้มีข้อเสนอจากนักวิชาการให้กำหนดการใช้รถเป็นวันเลขคู่เลขคี่เพื่อลดจำนวนการใช้รถ และทำให้การจราจรเบาบาง แต่ต้องถามว่ารัฐบาลกล้าทำหรือไม่ เพราะจะกระทบต่อกิจกรรมการเดินทางของประชาชนด้วย

Advertisement

“อีกทางหนึ่งที่อยากจะเสนอคือ งานหลายประเภททั้งราชการและเอกชนสามารถทำที่บ้าน หรือไม่ต้องเดินทางไปที่ทำงานก็ได้ แต่ต้องส่งงาน ในช่วงนี้ให้ทำงานที่บ้านได้หรือไม่ เพื่อลดการใช้รถ และจะถือว่าเป็นไทยแลนด์ 4.0 เพราะใช้เทคโนโลยีช่วยในการทำงาน อีกทั้งจังหวัดปริมณฑลต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบการเผาหญ้าริมทาง ในที่นาที่ เพราะฟุ้งกระจายเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วย ขณะที่การทำฝนเทียมเห็นว่าเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ” นายสุพัฒน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image