ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ไม่ใช่เรื่องง่าย กทม.ต้องคิดหนักหากจะประกาศจริง

ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ไม่ใช่เรื่องง่าย กทม.ต้องคิดหนักหากจะประกาศจริง

วันที่ 21 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลานี้มีหลายสำนักข่าว มีการแชร์กันว่า กรุงเทพมหานคร(กทม.)มีความกังวลเรื่องปริมาณฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอน ที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างน่ากังวล ทำให้มีประชาชนแสดงอากาศเจ็บป่วยจำนวนมาก โดยมีกระแสข่าวว่า กรุงเทพมหานคร(กทม.)จะเสนอให้กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) ประกาศให้พื้นที่กทม.เป็นเขตควบคุมมลพิษด้วยนั้น

แหล่งข่าวจาก คพ.กล่าวว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษนั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆและไม่ได้ทำกันง่ายๆ รวมทั้งไม่มีเจ้าของพื้นที่ใดต้องการให้พื้นที่ตัวเองถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพราะหากประกาศแล้ว จะมีความยุ่งยากในการจัดการพื้นที่มาก โดยที่ผ่านมานั้น คพ. ได้เสนอ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ประกาศ 12 พื้นที่เป็นเขตควบคุมมลพิษ ประกอบด้วย เมืองพัทยา พิษณุโลก สงขลา เกาะ พีพี สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ หน้าพระลาน จ.สระบุรี และ มาบตาพุด

ทั้งนี้ การกำหนดให้พื้นที่ใดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ก็เพื่อให้ท้องถิ่นหรือเขตการปกครองในพื้นที่นั้นๆมีการจัดการควบคุมและแก้ไขปัญหามลพิษอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากการศึกษาและสรรหามาตรการที่เหมาะสมในการควบคุม ลด และขจัดมลพิษในพื้นที่นั้นๆ และสามารถจะดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่นั้นๆได้ทันท่วงที ซึ่งถือเป็นการกระจายภาระหน้าที่ในการจัดการมลพิษไปสู่ท้องถิ่นโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถบังคับให้ผู้ที่อยู่ในเขตควบคุมมลพิษต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 กำหนดไว้เช่น

Advertisement

1. กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ ทำการก่อสร้าง ติดตั้งหรือจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียหรือระบบกำจัดของเสีย
2. กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษทุกประเภท ส่งน้ำเสียหรือของเสียที่เกิดจากแหล่งกำเนิดมลพิษของตนไปทำการบำบัดหรือกำจัดโดยระบบบำบัดน้ำเสียรวมหรือระบบกำจัดของเสียรวมที่มีอยู่ภายในเขตควบคุมมลพิษหรือเขตท้องที่นั้น และมีหน้าที่ต้องเสียค่าบริการด้วย
3. ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ น้ำเสียหรือของเสียจากแหล่งกำเนิดของตนไปให้ผู้รับจ้างให้บริการทำการบำบัดหรือกำจัด
4. จัดให้มีวิธีการชั่วคราวสำหรับบำบัดน้ำเสียหรือกำจัดของเสีย จนกว่าจะได้มีการก่อสร้าง ติดตั้ง และเปิดดำเนินงานระบบบำบัดน้ำเสียรวมหรือระบบกำจัดของเสียรวมในเขตควบคุมมลพิษหรือเขตท้องที่นั้น นอกจากนี้ยังสามารถทำให้การบริหารจัดการเพื่อควบคุม ลดและขจัดมลพิษเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรม มีระเบียบแบบแผน มีขั้นตอนการทำงานและงบประมาณที่ชัดเจน เช่น ให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษ โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ได้ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ตลอดจนมีมาตรการเวนคืนที่ดินของเอกชนในเขตควบคุมมลพิษ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งระบบบำบัดน้ำเสียรวมหรือระบบกำจัดของเสียรวม ในกรณีที่ไม่สามารถจัดหาที่ดินของรัฐได้

เมื่อถามว่า พื้นที่แบบใดบ้างที่อาจถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ แหล่งข่าวจากคพ. กล่าวว่า การกำหนดเขตควบคุมมลพิษเป็นอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อปรากฎเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ คือ ถ้าปรากฏว่าทองที่ใดมีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม

“ในการประกาศให้พื้นที่ใดเป็นเขตควบคุมมลพิษ จะมีการพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและสังคมประกอบด้วย จะไม่ประกาศในลักษณะที่เป็นการครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวางโดยไม่จำเป็น และต้องคำนึงถึงศักยภาพของท้องที่ที่จะประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษดด้วยว่า สามารถดำเนินการควบคุม ลด ขจัดมลพิษได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่า เมื่อมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้วจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม หากเห็นได้ชัดว่าท้องที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอ ก็ควรใช้มาตรการอื่นเพื่อควบคุม ลดและขจัดมลพิษแทน” แหล่งข่าวจากคพ.กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image