ชงข้อมูล ‘นวดไทย’ ยึดหลักเส้นประธานสิบส่งยูเนสโก ขึ้นบัญชีมรดกวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้

กรมแพทย์แผนไทยฯ ร่วมทุกภาคส่วนเสนอข้อมูลส่งก.วัฒนธรรมเสนอยูเนสโก ขึ้นบัญชี ‘นวดไทย’ เป็นมรดกวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ ปี 62  พร้อมชูมาตรฐานการนวด เน้นหลักนวดเส้นประธานสิบ นวดผ่อนคลาย รักษาโรคแก้ปวดเส้น ปวดเมื่อย โรคข้อ นิ้วล็อก ไมเกรน รอลุ้นพ.ย.ปีนี้

เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นพ.มรุต  จิรเศรษฐสิริ  อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ  แถลงข่าว “การจัดงานโครงการมหกรรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย” ว่า ปีนี้กรมฯมีงานที่ต้องเดินหน้าเพื่อพัฒนาสมุนไพร รวมทั้งการรักษาจากภูมิปัญญษแพทย์แผนไทยให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น ซึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมจะมีงานใหญ่ คือ มหกรรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย ปีที่ 11 ระดับภาคปี 2562 จัดขึ้น 4 ภาค แบ่งเป็น  1.ภาคกลางและภาคตะวันออก จ.สมุทรปราการ   ณ ลานน้ำพุ ศูนย์การค้าเมกะบางนา  ระหว่างวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์   2.  ภาคเหนือ จ.ลำพูน ณ แจ่มฟ้าพลาซ่า วันที่ 14-18 กุมภาพันธ์  3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สุรินทร์  ณ โรงแรมทองธารินทร์  วันที่ 20-22 กุมภาพันธ์  และ4. ภาคใต้ จ.นราธิวาส ณ สวนกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันที่ 10-14 มีนาคม

นพ.มรุต กล่าวว่า โดยแต่ละภาคก็จะมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ ภาคใต้ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเรื่อง การนวดลังกาสุกะ ซึ่งเป็นการนวดสำหรับผู้สูงวัย แก้ปวดเมื่อย ปวดเข่า ปวดหลัง นวดด้วยน้ำมันสูตรต่างๆของหมอพื้นบ้าน  ซึ่งทั้งหมดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ต้องอนุรักษ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการนวดไทยนั้น ที่ผ่านมากรมฯ ได้มีการผลักดันมาตรฐานการนวดให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก และในปีนี้ก็เช่นกัน จะต้องรุกคืบหนัก เนื่องจากเป็นปีที่สืบเนื่องจากปี 2561 ที่ผ่านมาที่ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกจาองค์การยูเนสโกให้ “โขนไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ (Intangible Heritage) ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งในส่วนของนวดไทยก็ได้จัดส่งพร้อมกันในปีที่ผ่านมา แต่โขนได้รับการคัดเลือกก่อน ดังนั้น ในปีนี้ก็ต้องมารรอลุ้นว่า นวดไทยจะได้รับการคัดเลือกในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ด้วย

“โดยนวดไทย เราจะเสนอทับศัพท์ ว่า NUAD THAI โดยขณะนี้ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดเตรียมรายละเอียดต่างๆ เพื่อส่งต่อให้ทางกระทรวงวัฒนธรรมในการรวบรวมและเสนอต่อไปยังยูเนสโกเพื่อพิจารณา  ซึ่งในเรื่องของรายละเอียดข้อมูลต่างๆ นั้นจะรวมทั้งของนักวิชาการของกรมฯ  และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับทางภูมิปัญญาท้องถิ่นของกระทรวงวัฒนธรรมมาช่วยดูกัน   ในเรื่องการนวดไทยนั้น จะแตกต่างจากการนวดของที่อื่นอย่างไร เราก็ได้มีการค้นคว้าว่า ของไทยมีการนวดที่เรียกว่า นวดเส้นประธานสิบ ซึ่งเป็นตำรานวดแผนโบราณ และเป็นการนวดที่ทั่วโลกรู้จักดี เช่นเดียวกับมวยไทย” นพ.มรุต กล่าว

Advertisement

นพ.มรุต กล่าวอีกว่า  โดยวิธีการอาจจะใช้วิธีนวดตอกเส้น นวดขิดเส้น  โดยจะทำเป็นหลักการนวดของไทย หากต่อไปใครจะเอานวดไทยไปต่างประเทศ เปิดโรงเรียนนวดที่ต่างประเทศก็ต้องผ่านการอบรมเป็นครูในประเทศไทยและไปสอนที่ต่างประเทศ  โดยจะรวบรวมเกี่ยวกับเรื่องราว ประวัติการนวดเส้นประธานสิบ และมาตรฐานการนวดไทย  พร้อมทั้งจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับที่  พระบาทสนเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   ได้มีการจารึกเรื่องการนวดของไทยเอาไว้ที่ศาลาราย ซึ่งรายล้อมข้างผนังภายในวัดโพธิ์ นับเป็นหลักฐานใหญ่ว่านี่คือ ภูมิปัญญาความรู้ของประเทศไทย  โดยกรมจะทำเป็นหลักฐานรายละเอียดว่านี่คือ ภูมิปัญญาของไทย อย่างไรก็ตาม โดยการนวดนั้น จะมุ่งเน้นการรักษาโรคโดยไม่ต้องใช้ยา  ซึ่งทั่วโลกจะรู้จักกันในเรื่องการนวดผ่อนคลาย  เป็นการรักษาร่างกาย กล้ามเนื้อ รักษาอารมณ์ให้รู้สึกผ่อนคลายมากกว่า เพราะส่วนใหญ่หากไปรักษาโรคต่างๆ คนที่ต้องให้การรักษาต้องเป็นแพทย์แผนไทย แต่การนวดผ่อนคลายทั่วไปจะเป็นผู้ช่วยแพทย์แผนไทย จริงๆในเรื่องการนวดยังช่วยเรื่องคลายเส้น แก้ปวดเมื่อย  แก้นิ้วล็อก บรรเทาอาการปวดศีรษะ บรรเทาอาการไมเกรนก็มี

ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่ขึ้นเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จะส่งผลอย่างไรกับประเทศไทย นพ.มรุต กล่าวว่า จะทำให้การนวดไทยเป็นที่รู้จักในนานาอารยประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราหวังว่าจะยกระบบการนวดของไทยเข้าสู่ระดับสากล ได้มีการเปิดสอน การใช้ และการให้บริการในทั่วโลก ซึ่งนวดไทยจะเป็นประโยชน์กับคนทั้งโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก

Advertisement

เมื่อถามว่า เหลือเวลาการดำเนินการอีกนานเพียงใดกว่าจะมีการพิจารณาอีกครั้ง  นพ.มรุต กล่าวว่า น่าจะประมาณเดือนพศจิกายน  ก็จะมีการพิจารณา สุดท้าย แต่ในระหว่างนี้เราก็จะร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมในการพิจารณา ซึ่งมีบอร์ดของกระทรวงวัฒนธรรมที่ดำเนินการอยู่ และมีอนุกรรมการชุดเล็ก ซึ่งท่านรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมีการร่วมกันประชุมในหลายรอบแล้ว ซึ่งการเตรียมทางกรมแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และจะมีการเชิญทางวัดโพธิ์ มหาลัยต่างๆ หลายๆแห่งที่ทำรวมทั้งศิริราช มาร่วมกันจัดทำเป็นมาตรฐานร่วมกัน และวางแผนในการพัฒนา

 

เมื่อถามว่าในการส่งเรื่องเข้าจะต้องเป็นภาพรวมว่านวดไทยต้องมีเป็นท่าอะไรหรือไม่    นพ. มรุต กล่าวว่า วิธีการนวด ท่านวดมีตำรับตำราที่อ้างอิงอยู่ แต่หลักๆจะพูดถึงว่ามาจากที่ใด มาจากภูมิปัญญาที่ไหนอย่างไร แล้วใครจะนวดอะไร ยังไง เรื่องท่าไม่ได้เจาะจงอาจจะมีความแตกต่าง มีวิธีการอีกเยอะ เช่น ภาคเหนือใช้วิธีการตอกเส้น ภาคอีสานใช้วิธีนวดขิดเส้น ซึ่งมีวิธีที่แตกต่าง แต่ใช้เส้นประธานสิบเหมือนกัน อย่างไรก็ตามจริงๆมีแบบที่เรียกว่านวดราชสำนัก และนวดเชลยศักดิ์ ซึ่งคงไม่ได้แบ่งเช่นนั้น แต่จะแบ่งว่าในแต่ละระดับประชาชนได้ประโยชน์อะไร

เมื่อถามว่าเกี่ยวกับภาพจำที่อาจเป็นแง่ลบของการนวดไทยจะมีการแก้ไขอย่างไร อธิบดีฯ กล่าวว่า  จะไม่ใช้คำว่า Thai massage แต่จะใช้ทับศํพท์ว่า นวดไทยไปเลย  เพราะเมื่อพูดถึง Thai massage แล้วยังมีคนมองไปถึงการนวดที่มีกามารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง คงต้องมีการดูแลในส่วนนี้ให้ดี หากตั้งเป็นร้านนวดก็ต้องเป็นนวดเพื่อรักษาหรือนวดเพื่อสุขภาพ  ไม่ใช่นวดเพื่อกามารมณ์ ซึ่งในปีนี้เราจะเดินหน้าในเรื่องมาตรฐาน ร้านไหนเผ่าก็จะมีโลโก้ ซึ่งทางกรมฯ ได้ประสานและขอทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้แล้ว จะใช้ทั้งในและต่างประเทศ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image