ภาคประชาสังคมยื่นศาลรธน. ขอยกเลิกกม.เอาผิดหญิงทำแท้ง ชี้หมอถูก ตร.เอาผิดเหตุปมตีความ

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่กรมอนามัย พญ.พรรรพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวการสนับสนุนและขับเคลื่อนการเข้าถึงเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร สำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการตั้งครรภ์ไม่พร้อมประมาณ 1 แสนรายต่อปี โดยเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเพียงแค่หมื่นกว่าต่อปีเท่านั้น ที่เหลืออาจยุติการตั้งครรภ์แบบไม่ปลอดภัย หรือเกิดการตั้งครรภ์ต่อทั้งที่ไม่พร้อม ทั้งนี้ การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยจะดำเนินการภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาและข้อบังคับของแพทยสภา คือ การถูกข่มขืนกระทำชำเรา และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมารดา โดยการยุติการตั้งครรภ์ หากอายุครรภ์มากกว่า 9 สัปดาห์ขึ้นไป สามารถใช้วิธีกระบอกดูดสุญญากาศไฟฟ้า แต่หากอายุครรภ์น้อยจะมีการใช้ยา

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า การพัฒนาการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย จึงเป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้าต่อเนื่อง ทั้งการใช้ยาเป็นทางเลือกในการช่วยลดอันตรายจากการยุติการตั้งครรภ์ไม่ปลอดภัย และหลายประเทศที่ดำเนินการก็เห็นผลว่า ลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐและผู้รับบริการ ลดความแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น โดยปัจจุบันยาดังกล่าวได้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีแนวปฏิบัติในการนำเข้ายา และจะต้องมีการขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลและแพทย์ที่จะใช้ยาดังกล่าวต้องมาขึ้นทะเบียนกับกรมอนามัย เพื่อให้เกิดความปลอดภัย การจัดทำเครือข่ายจัดบริการยุติตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เครือข่ายอาสาส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันมีแพทย์อาสา 130 คน และทีมสหวิชาชีพอาสา 348 คน รวมถึงสายปรึกษาทางเลือกท้องไม่พร้อม 1663 เพื่อให้คนที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ได้เข้าถึงบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ต่อ ซึ่งต้องมีระบบดูแลมารองรับให้เป็นการตั้งครรภ์คุณภาพ หรือการยุติการตั้งครรภ์แบบปลอดภัย และต้องดูแลต่อเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำหรือทำแท้งซ้ำ

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม กล่าวว่า จากการทำงานด้านนี้มา พบว่า ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม กว่า 90% ต้องการยุติการตั้งครรภ์ จึงต้องขับเคลื่อนให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมเข้าถึงทางเลือกและบริการต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกฎหมายเรื่องของการทำแท้ง แต่ก็ยังมีปัญหา โดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลได้รับคำร้องแล้ว คือ ขอให้ยกเลิกมาตรา 301 ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ระบุว่า หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะแม้จะเข้าถึงบริการแบบปลอดภัย ก็สามารถถูกจับเอาผิดได้

รศ.กฤตยา กล่าวว่า และขอให้ปรับปรุงมาตรา 305 ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ระบุว่า หากเป็นการกระทำของแพทย์ จำเป็นต้องเนื่องจากสุขภาพของผู้หญิง หรือหญิงตั้งครรภ์จากทำผิดกฎหมาย เช่น การข่มขืน ให้ถือว่าไม่มีความผิดนั้น แต่ก็มีการจับแพทย์ที่ให้บริการ ซึ่งขณะนี้มีแพทย์อาสา ถูกตำรวจตั้งข้อหาแล้ว 2 คน เพราะมีการตีความเรื่องมีผลต่อสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์เฉพาะทางกาย แต่ไม่รวมสุขภาพทางจิต โดยอ้างว่าข้อบังคับของแพทยสภา ที่ระบุเรื่องปัญหาสุขภาพทางจิตสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้นั้น ไม่ใช่กฎหมาย

Advertisement

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนัก 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ตั้งแต่ ต.ค. 2561 – ก.ย. 2563 เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งและเครือข่ายหน่วยบริการที่ดูแลช่วยเหลือวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ต่อ ขยายบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยอย่างทั่วถึง โดยพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของเครือข่ายอาสาส่งต่อฯ สร้างความเข้าใจสาธารณะต่อสิทธิในทางเลือกของวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม และจัดการองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย

เมื่อถามถึงการช่วยเหลือแพทย์ที่ถูกดำเนินคดี พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า จะมีการประสานไปยังทางตำรวจว่า การดำเนินงานของแพทย์อาสานั้นมีการขึ้นทะเบียนกับทางกรม และมีแนวปฏิบัติในการดำเนินการชัดเจนที่เป็นมาตรฐาน และจะทำลิสต์รายชื่อแพทย์เครือข่ายที่กรมฯ รับรองในการดำเนินการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เพื่อให้ตำรวจได้ตรวจสอบหรือมาพูดคุยกันก่อน

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image