ระดมแนวคิด ปิดช่องโหว่ ลืมเด็กในรถ

เหตุการณ์เศร้าสลดหนูน้อยถูกขังอยู่ในรถที่ถูกล็อกประตูมีอากาศจำกัดและร้อนอบอ้าวกระทั่งเสียชีวิต กลายเป็นอุทาหรณ์ให้ได้เห็นอยู่บ่อยๆ ด้วยมีเหตุจากความประมาทของผู้ใหญ่ บ้างก็เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองเอง หรือเป็นบุคคลที่ผู้ปกครองมอบหมายให้ดูแลบุตรหลาน

ล่าสุดเกิดเรื่องสลดขึ้นอีกกับครอบครัว “ปัจจัยโย” เมื่อ ด.ญ.ปริมประภา หรือน้องอิงค์ วัย 3 ขวบ นักเรียนอนุบาลโรงเรียนคลองบางกระบือ จ.สมุทรปราการ ถูกลืมอยู่ในรถตู้รับ-ส่งนักเรียนนานถึง 7 ชั่วโมงจนหมดสติและเสียชีวิต

ปัญหาเช่นนี้ มีความพยายามแก้ไข

ที่ผ่านมามีความพยายามออกกฎกติกา จัดอบรมดูแลความปลอดภัยรถโรงเรียนรับ-ส่งเด็กเล็ก

Advertisement

แต่ความสูญเสียก็ยังเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เป็นคำถามไปถึง “ผู้ใหญ่” ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ จะอุดช่องโหว่ความประมาทกันอย่างไร?

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงปัญหานี้ว่า การลืมเด็กไว้ในรถรับ-ส่งนักเรียนจนเกิดเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นรถรับจ้างของเอกชน กระทรวงคงไม่สามารถเข้าไปดูแลอะไรได้มากนัก แต่ที่ทำได้คือย้ำไปยังโรงเรียนและครูทุกคนให้ตระหนักและมีจิตสำนึกในการดูแลเด็ก ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเดินทางไปทำกิจกรรมอะไร ครูจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กเล็กยังไม่ค่อยรู้เรื่อง ดูแลตัวเองไม่ค่อยได้ ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

Advertisement

ขณะที่ การุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน บอกว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าไปกำหนดมาตรการดูแลรถตู้รับ-ส่งนักเรียนเหล่านี้ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของธุรกิจภาคเอกชนทำข้อตกลงกับผู้ปกครองในการรับ-ส่งบุตรหลานไป-กลับระหว่างบ้านกับโรงเรียน เท่าที่ทำได้คือกำชับให้โรงเรียนดูแลเด็ก และขอให้แจ้งไปยังผู้ประกอบการรถตู้ทุกคนให้ระมัดระวังตรวจตราให้ถี่ถ้วนก่อนปิดรถว่าหลงลืมเด็กทิ้งไว้ในรถหรือไม่ รวมถึงขอให้ขับรถอย่างมีวินัย ไม่ให้ขับเร็วเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ทำให้เด็กต้องเสียชีวิต

ด้านหน่วยงานกำกับดูแลการขนส่ง ณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ให้ความเห็นว่า ในส่วนของกรมรับผิดชอบดูแลด้านมาตรฐานความปลอดภัยของตัวรถโรงเรียนหรือรถรับ-ส่งนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ.2522 กำหนดให้ผู้ประกอบการรถรับ-ส่งนักเรียนที่มีที่นั่งเกินกว่า 12 ที่นั่ง หรือรถบัส ต้องมายื่นขอจดทะเบียนขอใบอนุญาตประกอบขนส่งนักเรียนเป็นการเฉพาะ พร้อมทั้งต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยประจำรถด้วย แต่กฎหมายยังไม่ได้ครอบคลุมไปถึงรถขนาดเล็กที่มีที่นั่งน้อยกว่า 12 ที่นั่ง หรือรถตู้ และรถกระบะที่มักเกิดปัญหาขึ้นบ่อยๆ

ดังนั้น ในเร็วๆ นี้กรมจะออกระเบียบเพิ่มเติมบังคับให้รถโรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นรถตู้และรถกระบะจะต้องมายื่นขอใบอนุญาตประกอบการขนส่งนักเรียนตามกฎหมายด้วย และต้องติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยภายในตัวรถเหมือนรถขนาดใหญ่ เช่น กำหนดให้ทาสีตัวรถเหลืองคาดดำ เพื่อให้รถคันอื่นเห็นเด่นชัด มีป้ายเขียนข้อความว่ารถรับ-ส่งนักเรียนเป็นตัวอักษรสีดำ ติดไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสีแดงไว้ที่ด้านหน้าหรือด้านท้ายของตัวรถ และมีเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือนักเรียนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ เครื่องดับเพลิง และค้อนทุบกระจก เป็นต้น

“ปัจจุบันกรมบังคับเฉพาะรถโรงเรียนที่เป็นรถบัสเท่านั้น แต่ภายในสิ้นปีนี้กรมจะออกระเบียบเพิ่มบังคับรถตู้และรถกระบะด้วย และจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยเหมือนรถใหญ่ ส่วนการแก้ไขปัญหาการลืมเด็กเล็กทิ้งไว้ในรถ กรมมีแนวคิดที่จะออกระเบียบ กำหนดห้ามไม่ให้รถโรงเรียนหรือรถรับ-ส่งนักเรียนทุกประเภทติดฟิล์มที่บริเวณกระจกรถ แต่ให้ใช้การติดผ้าม่านเป็นการบังแดดแทน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับนักเรียนที่อยู่ในรถ เช่น กรณีลืมเด็กไว้ หากเป็นผ้าม่าน เด็กก็สามารถเปิดม่านร้องขอความช่วยเหลือจากภายนอกได้ หรือคนที่เดินผ่านไปผ่านมาอาจจะมองเห็น และก็ช่วยเหลือได้ทัน ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับมาตรการของรถแท็กซี่ ที่ปัจจุบันกรมออกระเบียบห้ามติดฟิล์มและติดม่าน เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารภายในรถ”

นายณันทพงศ์ระบุว่า สำหรับผู้ประกอบการที่นำรถป้ายดำหรือรถส่วนบุคคลที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นรถนักเรียนมาวิ่งให้บริการรับและส่งนักเรียนถือว่าผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ข้อหาใช้รถผิดประเภทและไม่มีใบอนุญาตประกอบการขนส่ง มีโทษหนักจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่น-1 แสนบาท

ส่วนกรณีฝ่าฝืนไม่ติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยในตัวรถ หากตรวจพบมีโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image