หนุนผลิตกระดาษจากฟางข้าวทดแทนตัดไม้-ไม่มีสารพิษก่อมะเร็ง

หนุนผลิตกระดาษจากฟางข้าวทดแทนตัดไม้-ไม่มีสารพิษก่อมะเร็ง

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ผศ.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหน่วยงานแม่ข่ายขับเคลื่อนอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เปิดเผยว่า อุทยานฯ ได้สนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟางไทย แฟคทอรี่ ในโครงการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ผลิต โดยใช้กระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยผลิตกระดาษที่ทำจากวัสดุฟางข้าวแบบ 100% สามารถยืดอายุการใช้งานกระดาษแบบยั่งยืน ทดแทนการตัดต้นไม้ ช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้ และนอกจากนี้ยังได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กระดาษสำหรับผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมในการนำไปใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์จาก ธรรมชาติและสินค้าออร์แกนิค โดยใช้กระบวนการผลิตที่ปราศจากสารเคมีที่เป็นพิษ ไม่มีสารจำพวกกรด อีกทั้งยังไม่ใช้สารคลอรีนในการฟอกเยื่อสำหรับผลิตกระดาษ ในกระบวนการผลิตอีกด้วย ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มลูกค้า โดยจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการรวมตัวของไดออกซินและสารพิษที่อาจก่อให้เกิด มะเร็งได้

ผู้อำนวยการอุทยานวิทย์ฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการนำ กระดาษจากฟางข้าวอินทรีย์ไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ต่างๆ อย่างหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น ปฏิทิน กระดาษโน้ต และสมุดโน้ต เพื่อสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านของใช้ในชีวิตประจำวัน ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากฟังก์ชั่นการใช้งานได้อีกต่อหนึ่ง โดยนำเมล็ดพันธุ์พืชฝังลงไปเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อกระดาษสมุดโน้ต และเมื่อกระดาษนั้นได้ผ่านการใช้งานหรือเลิกใช้แล้ว ก็สามารถฉีกกระดาษหน้าที่ใช้แล้วมารดน้ำด้วยเวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่ซ่อนอยู่ด้านในเติบโตและสามารถนำไปลงดินเพาะปลูกได้ โดยอาศัยฟางข้าวเป็นแหล่งอาหารแทนดินที่ทำให้พืชพร้อมเจริญเติบโตเป็นต้น กล้าต่อไปโดยไม่ต้องดึงกระดาษที่ติดรากออก ด้วยเพราะฟางข้าวมีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้เร็วกว่ากระดาษทั่วไปถึง 20 เท่า จึงเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และโดนใจสำหรับกลุ่มผู้อนุรักษ์สิ่ง แวดล้อมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ผศ.ธัญญานุภาพ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากการจ้างงานและมูลค่าจากผลิตภัณฑ์ให้กับ จ.ลำปางบ้านเกิดได้ถึง 3.3 ล้านบาท ผ่านการสนับสนุนและผลักดันจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือด้วยการให้คำปรึกษา แนะนำ พัฒนาศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจจากโครงการต่างๆ ด้วยผลิตภัณฑ์รักษ์โลกจากนวัตกรรมกระดาษฟางข้าวอินทรีย์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image