ผ่านแล้ว! ร่างกม.นิรโทษผู้ครอบครองกัญชา 3 กลุ่ม แจ้ง 90 วันพ้นโทษทางกฎหมายทันที

กก.ยาเสพติดให้โทษเห็นชอบร่างกฎหมายลูกนิรโทษผู้ครอบครองกัญชา 3 กลุ่ม  3 ฉบับ  แจ้งภายใน 90 วันไม่ต้องรับโทษ ส่วนผู้ป่วยให้ใช้ต่อไปได้ขอแค่ใบรับรองยืนยันป่วย อนุญาตใช้จนกระทั่งกระบวนการร่างกม.ใหม่บังคับใช้    

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เสนอร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการนิรโทษผู้ครอบครองกัญชา โดยต้องเข้ามาแจ้งภายใน 90 วัน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับหากร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯประกาศใช้  โดยอย. เตรียมเสนอร่างประกาศดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษพิจารณาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562  ขณะที่  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาคัดค้าน เนื่องจากเกรงว่าเมื่อนิรโทษแล้ว จะมีการเก็บกัญชาไปทำลาย สุดท้ายจะกระทบต่อการเข้าถึงของผู้ป่วย เนื่องจากภาครัฐก็ยังไม่ยืนยันว่าจะผลิตน้ำมันกัญชาออกมาใช้ทางการแพทย์ได้เมื่อไหร่ อีกทั้งผู้ใช้ใต้ดินยังเตรียมเคลื่อนไหวด้วยนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มีการประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง อย. กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด กรมศุลกากร เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ( ...)  กระทรวงกลาโหม ฯลฯ โดย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาอนุบัญญัติ หรือกฎหมายลูก เพื่อรองรับร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่..) พ.ศ..

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวภายหลังการประชุม ว่า  คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษได้มีการประชุมพิจารณาร่างอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูก  เพื่อรองรับร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่..) พ.ศ..  หากมีผลบังคับใช้ ก็สามารถใช้ร่างอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกดังกล่าวได้ทันที โดยร่างอนุบัญญัติที่พิจารณาทั้งหมด 5 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับแรกเป็นกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องการผลิต การอนุมัติ อนุญาต การส่งออก นำเข้า และประกาศกระทรวงสาธารณสุขอีก 4 ฉบับ คือ  ประกาศที่เกี่ยวข้องกับการให้ผู้ที่ครอบครองกัญชาเข้ามาแจ้งการครอบครองภายใน 90 วัน ซึ่งหากมาแจ้งจะไม่ต้องรับโทษ  มีอยู่ด้วยกัน 3 ฉบับ  และยังมีประกาศตำรับที่มีส่วนประกอบของกัญชาที่จะใช้ในส่วนของแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน ที่จะอนุญาตให้ปรุงยา

Advertisement

“ คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษได้พิจารณาและเห็นชอบร่างประกาศและกฎกระทรวงทั้งหมด 5 ฉบับ และได้มอบหมายให้ อย.เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงอนุบัญญัติ และเสนอเข้าสู่คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษอีกครั้ง” นพ.ธเรศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าสำหรับร่างประกาศการละเว้นโทษผู้ครอบครองกัญชา หรือการนิรโทษผู้ครอบครองที่เข้ามาแจ้งภายใน 90 วันจะไม่ต้องรับโทษนั้น จะแบ่งกลุ่มผู้ครอบครองอย่างไร นพ.ธเรศ กล่าวว่า จากการประชุมครั้งนี้ได้แยกกลุ่มครอบครองกัญชาออกเป็น 3 กลุ่ม ทำออกเป็น 3 ฉบับแยกออกจากกัน ดังนี้ ฉบับแรก สำหรับหน่วยงาน มหาวิทยาลัย วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบวิชาชีพ แพทย์แผนไทย ฯลฯ ซึ่งมีการวิจัยเรื่องนี้ ฉบับที่สอง เป็นผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าไม่สบายจริงๆ และจำเป็นต้องใช้ ซึ่งทางอย.ให้มาแจ้ง และก็อนุญาตให้ใช้ต่อไปได้ในปริมาณที่เหมาะสม จนกระทั่งเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายใหม่บังคับใช้ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของกฎหมาย  และฉบับที่สาม เป็นบุคคลอื่นๆที่ไม่อยู่ในคุณสมบัติของ 2 กลุ่มแรก  ซึ่งในประกาศแต่ละฉบับก็จะระบุถึงการนำมาเก็บและทำลายต่อไป

เมื่อถามว่ามีข้อกังวลว่า เมื่อเข้าสู่ร่างกฎหมายนิรโทษ จะกระทบการเข้าถึงผู้ป่วย เพราะกัญชาจะถูกเก็บและนำไปทำลาย และกว่าจะเข้าถึงขั้นตอนการผลิตกัญชาทางการแพทย์ของรัฐอาจไม่ทัน นพ.ธเรศ กล่าวว่า  คณะกรรมการฯพิจารณาประเด็นนี้เช่นกัน  ซึ่งได้มีการพิจารณาตามมาตรา 22 ของร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งในส่วนของผู้ป่วยที่แจ้งการครอบครอง ก็ให้ผู้ป่วยใช้ยานี้ไป จนกว่าจะได้พบแพทย์ทั้งแพทย์แผนไทยและปัจจุบัน และได้รับการสั่งให้มีการใช้กัญชาตามระบบใหม่ที่เกิดขึ้น

Advertisement

เมื่อถามย้ำว่า ถ้านิรโทษแล้ว กัญชาจำนวนหนึ่งจะถูกทำลาย ผู้ป่วยอาจไม่พอใช้หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า เนื่องจากข้อกฎหมายกำหนดเช่นนี้ แต่ก็มีการเตรียมพร้อมของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง อย่างองค์การเภสัชกรรม เพื่อพัฒนาและผลิตให้เพียงพอกับผู้ป่วย

“สำหรับเรื่องของการครอบครองในส่วนของผู้อื่นที่นอกเหนือจาก 2 กลุ่มแรกนั้น ขอย้ำว่า จะต้องส่งมอบกัญชา หรือยาที่มีส่วนประกอบกัญชาให้กับหน่วยงานของรัฐ หรือกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปทำลาย โดยเรื่องนี้เขียนชัดไว้ในร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายฉบับแม่ เราทำตามร่างกฎหมายที่ผ่านมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)” นพ.ธเรศ กล่าว  และว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อกังวลต่างๆ ก็สามารถมาร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้อีก ซึ่งจะจัดขึ้นโดยเร็วที่สุด  แต่ก็ต้องรอร่างพ.ร.บ.ฯฉบับใหญ่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมาไม่มีการรับรองหรือแยกว่าผู้ป่วยไหนใช้กัญชาเป็นยา อย.จะแยกอย่างไร นพ.ธเรศ กล่าวว่า  ตอนนี้ยึดหลักผู้ป่วยต้องมีการรับรองจากแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนไทย ว่า ป่วยจริง เพราะกฎหมายมีเจตนาดีว่า ผู้ป่วยที่ไม่มีช่องทางอื่นรักษาไปใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ โดยแจ้งกับแพทย์และมีใบยืนยันว่าป่วยจริง จากนั้นก็มาแจ้งทาง อย. เราก็จะให้ท่านใช้ยาจนกว่าการเชื่อมต่อระบบตามข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ต่อไป  ซึ่งการรับรองว่าป่วยจริง ไม่จำเป็นต้องเป็น 4 กลุ่มโรค แต่เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ส่วนในเรื่องของกลุ่มโรคจะอยู่อีกประกาศฉบับหนึ่ง

ข่าวรอบด้าน กับ Line@มติชนนิวส์รูม คลิกเป็นเพื่อนกัน ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

“วันนี้เราก็มีการพิจารณาอย่างเรื่องแพทย์แผนไทย จะกำหนดว่า ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร และต้องมีการขึ้นทะเบียนเพื่อสามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ รวมทั้งแพทย์แผนปัจจุบันก็ด้วย ก็จะเป็นอีกประกาศฉบับหนึ่งในเรื่องของการรักษา ซึ่งจะมีกลุ่มโรคอยู่และจะเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ อย่างข้อมูลของกรมการแพทย์จะระบุว่ามี 4 กลุ่มโรคที่ได้รับการยืนยัน และยังมีกลุ่มโรคที่มีแนวโน้มเป็นไปได้ แต่จะต้องมีกระบวนการรายงานว่าคนไข้ดีขึ้นหรือไม่ และอีกกลุ่มอาจต้องทำการวิจัย ซึ่งก็ต้องมีการติดตามด้วย” เลขาธิการ อย.กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 4 กลุ่มโรคที่มีการเสนอในคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  คือ ลมชักในเด็ก กล้ามเนื้อเนื้อแข็ง ผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการได้รับยาเคมีบำบัด และปวดเรื้อรัง  ส่วนอีก 2 กลุ่มโรค คือ กลุ่มโรคที่น่าจะมีประโยชน์ทางการแพทย์ อาทิ โรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ เครียด และการใช้ในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ส่วนอีกหนึ่งกลุ่มคือ กลุ่มที่อาจจะมีประโยชน์ เช่น การใช้นำมันกัญชาในการฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะต้องเริ่มวิจัยตั้งแต่หลอดทดลอง และระดับคลินิกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image