“หมอธีระวัฒน์” โพสต์อีก ผู้ตรวจการแผ่นดินเตรียมฟ้องมติไม่แบน3สารเคมี เผยเกษตรแถลงเป็นเพียงข้ออ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสตเฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ได้โพสต์เฟซบุ๊กอีกโดยระบุว่า บุญของคนไทย!! เนื่องจากมีข่าวว่าผู้ตรวจการแผ่นดินเตรียมฟ้องมติ ไม่แบนสารเคมีอันตราย 3 ชนิด

“ผู้ตรวจการแผ่นดินเตรียมเชิญคณะกรรมการวัตถุอันตรายและผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชี้เเจงกรณีไม่ยกเลิกใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด ในภาคการเกษตร

ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยืนยันถึงข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ให้ยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดคือพาราควอต คลอไพรฟอส และไกลโฟเสท ภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากคำนึงถึงอันตรายด้านสุขภาพแม้จะไม่เกิดขึ้นฉับพลันแต่ก็สะสมในร่างกาย และข้อมูลวิชาการด้านต่างๆ เห็นตรงกันว่าควรเลิกใช้สารอันตรายทั้ง3ชนิดนี้ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลก ประกาศห้ามใช้พาราควอตเกือบทั้งหมดแล้ว ขณะนี้จะรอหนังสือจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายชี้แจงเหตุผล ที่ไม่สามารถยกเลิกใช้สารอันตรายทั้ง 3 ชนิด ถ้าเหตุผลไม่เพียงพอ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะทำหนังยืนยันข้อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป”

นอกจากนี้ นพ.ธีระวัฒน์ยังระบุอีกว่า ล่าสุดมีข้อมูลจากไบโอไทย เกี่ยวกับคำชี้แจงของ นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรฯ รับลูกจากนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯแถลงมาตรการจำกัดการใช้พาราควอต ซึ่งในที่สุดแล้วมันจะเป็นเพียงข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมในการอนุญาตให้พ่อค้าสารพิษค้าขายสารพิษร้ายแรงต่อไปได้นั่นเอง ดังนี้

Advertisement

1) การจำกัดการใช้ที่ได้ผลที่สุด คือการกำหนดปริมาณการนำเข้าสารพิษร้ายแรง แต่ไม่มีประโยคใดๆหลุดออกมาจากกระทรวงเกษตร การนำเข้าสารพิษพาราควอตในที่สุดแล้วก็ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานของไปโดยปราศจากการควบคุมใดๆนั้นเอง

2) การจำกัดการใช้พาราควอตที่มีประสิทธิภาพปกป้องชีวิตเกษตรกรและผู้บริโภคได้จริงๆนั้นต้องทำแบบบราซิลที่ป้องกันมนุษย์เป็นผู้ฉีดพ่น (ซึ่งขณะนี้ ANVISA ก็เห็นว่าไม่ปลอดภัยพอ และกำลังเสนอให้แบน) การดำเนินการแบบนี้ นายอัคคพล เสนาณรงค์ ผอ.สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมเห็นว่าต้นทุนสูงมาก สู้แบนพาราควอตไปเลยดีกว่า และเขาสนับสนุนให้มีการแบน

3) มาตรการที่บอกว่าจะควบคุมการใช้ในพื้นที่ต้นน้ำนั้น ไม่มีส่วนใดที่ดำเนินการกับกลุ่มธุรกิจการเกษตรเลย เช่น มาตรการที่ห้ามมิให้มีการซื้อผลผลิตที่ใช้พาราควอตจากพื้นที่ต้นน้ำเป็นต้น

3) ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการควบคุมและจำกัดการใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืช เพราะแม้แต่สารพิษที่ผิดกฎหมายก็ปล่อยให้มีการขายกันอย่างโจ๋งครึ๋ม จากฐานข้อมูลของไทยแพนที่ตรวจสอบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมายตกค้างอยู่ในผลผลิตปลายทางมีสัดส่วนมากถึง 17% ของสารพิษตกค้างทั้งหมด ( 50 ตัวอย่างจาก 296 ตัวอย่าง)

ขนาดสารที่ผิดกฎหมายยังปล่อยให้ใช้ แล้วสารที่ยังอนุญาตให้ใช้ต่อ กระทรวงเกษตรฯจะทำได้หรือ

โดยสรุป มาตรการที่ว่ายังเบาบาง มิได้มีมาตรการพิเศษใดๆที่เพียงพอสำหร้บผู้ค้าสารพิษเลย และจะไม่มีทางปกป้องสุขภาพของเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และการตกค้างที่มีผลต่อเนื่องมายังผู้บริโภคได้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้ออ้างเอื้อประโยชน์ต่อพ่อค้าสารพิษ มากกว่าจะปกป้องประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image