มติกก.สถานพยาบาลย้ำผู้ป่วยซื้อยานอกรพ.ได้แล้วแต่กรณี เหตุอยู่ที่แผนการรักษา

มติกก.สถานพยาบาลชี้ ยาในสถานพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งบริการทางการแพทย์ ส่วนกรณีผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อข้างนอก ย่อมเป็นสิทธิทำได้ แต่ไม่เห็นด้วยต้องติดป้ายประกาศ เหตุบางตัวก็ซื้อไม่ได้ อยู่ที่แผนการรักษา  เผยมติไม่ชี้ขาดต้องรอข้อสรุป กกร.  เหตุยังเหลือข้อคิดเห็นจากฝั่งประกันภัย-ประกันชีวิต

ซื้อยานอกรพ.-เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์   ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวกรณีมติคณะกรรมการสถานพยาบาล ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 พิจารณาเรื่องการควบคุมค่ารักษาพยาบาล ค่ายาสถานพยาบาลเอกชน ว่า   ตามที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ(กกร.)  กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการประกาศเพิ่มสินค้าและบริการที่ต้องควบคุมเพิ่มประมาณ 50 รายการนั้น จะมีเรื่องยา และบริการทางการแพทย์รวมอยู่ด้วย โดย 1. กำหนดยา และเวชภัณฑ์รักษาโรคเป็นสินค้าควบคุม ให้มีการติดป้ายแสดงราคาอย่างเปิดเผย 2. บริการทางการแพทย์และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาลเป็นบริการควบคุม แต่ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดมาตรการชัดเจน มีเพียงการให้ติดป้ายแสดงค่ารักษาไว้ในที่เปิดเผย และชัดเจน หรือจัดทำบัญชีเพื่อให้ผู้ใช้บริการมีโอกาสเปรียบเทียบ ตัดสินใจในการรับบริการเท่านั้น

“ดังนั้นจึงตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการยาและเวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาล ซึ่งอนุกรรมการฯ มีการประชุมและให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประชุมรับฟังความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยสบส.ก็มีการประชุมคณะกรรมการสถานพยาบาลเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา” อธิบดี สบส.กล่าว

Advertisement

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ มติที่ประชุมคณะกรรมการสถานพยาบาลมีข้อสรุป 2 ประเด็น คือ 1.ยาในสถานพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของบริการทางการแพทย์ ตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งแพทย์ต้องรับผิดชอบต่อผลการรักษา  2. เรื่องการติดป้ายให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อนอกสถานพยาบาลนั้น เห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้วที่สามารถทำได้ แต่ไม่เห็นด้วยในการติดป้าย เพราะการรักษาในโรงพยาบาลเป็นลักษณะทีมสหวิชาชีพ ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างแพทย์กับเภสัชกร รวมถึงคุณภาพของยา ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของการรักษาผู้ป่วยตามแผนการรักษา แต่ก็ย้ำว่ามติ 2 ข้อนี้เป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการสถานพยาบาลเท่านั้น ยังไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำตาม แต่จากนี้จะนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อทราบ และส่งมติดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาออกมาตรการในการควบคุมราคาบริการทางการแพทย์ ซึ่งตนยังไม่ทราบว่าอนุกรรมการฯ จะประชุมเมื่อไหร่ เพราะต้องรอความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ อีก เช่น  ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจประกันชีวิต เป็นต้น  เพราะผู้ป่วยร้อยละ 60-70 ของโรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้ที่มีประกันเหล่านี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลเอกชนสามารถนำใบสั่งยามาซื้อจากร้านขายยาข้างนอกได้หรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เดิมกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อจากร้านขายยาข้างนอกอยู่แล้ว  อย่างยาบางตัวที่ไม่มีในโรงพยาบาล หรือยาบางตัวขาดสต็อก หรือกรณีผู้ป่วยมาโรงพยาบาลรัฐแล้วคิวยาวก็ขอใบเสร็จไปซื้อยาจากร้านข้างนอกได้ เป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ยาบางตัวไม่สามารถซื้อได้ แล้วแต่กรณี แต่ที่มีการร้องเรียนว่ายาโรงพยาบาลเอกชนราคาสูงนั้น ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนมีการอธิบายว่า เพราะมีต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการรักษามาตรฐานยา ทั้งเภสัชกร ห้องเก็บยา ทั้งหมดเป็นต้นทุน ก็รับฟังได้ อย่างไรก็ตาม ทางนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ยืนยันว่า ที่ผ่านมามีการชี้แจงรายละเอียดเหล่านี้ในใบเสร็จค่ารักษาอยู่แล้ว จากนี้จะมีการจัดทำใบเสร็จให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยยึดโยงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชนิดหรือประเภทของการรักษาพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์ การบริการทางการแพทย์ หรือการบริการอื่นของสถานพยาบาล และสิทธิของผู้ป่วย ซึ่งผู้รับอนุญาตต้องแสดงตามมาตรา 32 (3) พ.ศ.2561

“จากการเก็บรวบรวมข้อมูลการร้องเรียนของผู้เข้ารับบริการในสถานพยาบาลต่างๆ เมื่อปี 2561 พบว่า มีการร้องเรียนเข้ามา สบส. ประมาณ 300 ครั้ง ซึ่งกรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับค่ายานั้นพบร้อยละ  2  นอกนั้นเป็นการร้องเรียนเรื่องมาตรฐานการรักษา การบริการ ฯลฯ  แต่ในร้อยละ 2 นั้นก็ได้มีการแก้ไขรายกรณีแล้ว และพร้อมจะปรับปรุง อย่างไรก็ตาม จุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขชัดเจน โดยนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับเสมอว่าเรื่องนี้ ผู้มารับบริการในโรงพยาบาลต้องได้รับการบริการที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัยในราคาที่เหมาะสม   ซึ่งทาง สบส.ก็ต้องกำกับเรื่องมาตรฐานทั้งคน สถานที่ และวิธีการรักษาให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัยเช่นกัน ” อธิบดี สบส. กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image