ยกย่อง ‘หมอสงวน’ ผู้นำโลก สร้างนวัตกรรมหลักประกันสุขภาพ

ในการประชุมไซด์ มีตติ้ง (Side Meeting) เวทีการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 หัวข้อ ความคิดริเริ่มด้านการป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพ ผ่านเครือข่ายผู้ป่วยและรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อรำลึกถึง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และผู้ริเริ่มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 2562

ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพต่างกล่าวยกย่อง นพ.สงวนในฐานะผู้ริเริ่มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจ

โกรัน ธอมป์สัน ศาสตราจารย์อาวุโส ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยสุขภาพระหว่างประเทศ สถาบัน Karolinska ประเทศสวีเดน กล่าวว่า มีโอกาสพบกับ นพ.สงวน ที่สวีเดนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว นพ.สงวนเดินทางไปหารือเพื่อเริ่มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีประเทศที่มีรายได้ปานกลาง-ต่ำ ประเทศไหนที่สามารถทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือการ รักษาฟรี ได้สำเร็จ แต่ นพ.สงวนและทีมเชื่อว่าประเทศไทยทำได้ หากมีงบประมาณเพียงพอ ระบบโรงพยาบาล บุคลากร มีมากพอ ระบบก็เกิดขึ้นได้

Advertisement

โกรันบอกว่า จากนั้นเขาเดินทางมาประเทศไทยตามคำเชิญของ นพ.สงวน เพื่อดูงานโรงพยาบาลระดับอำเภอและสถานีอนามัยที่ จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วก็พบว่าประเทศไทยน่าจะทำได้จริง เพราะสถานพยาบาลมีความพร้อม มีบุคลากรที่ตั้งใจ เหลือเพียงอย่างเดียว ฝ่ายการเมืองและฝ่ายนโยบายจะต้องเห็นพ้องด้วย หลังจากนั้นไม่นาน นพ.สงวนก็สามารถโน้มน้าวพรรคการเมืองและรัฐบาลในขณะนั้นดำเนินโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในโลกแม้ไม่ร่ำรวย แต่สามารถสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จ

โกรันกล่าวว่า นพ.สงวนได้สร้างระบบที่ทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ได้เป็นเรื่องของรัฐบาล หรือเรื่องของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเดียว แต่ทำให้เป็นของ ประชาชน ผ่านความร่วมมือของภาคประชาชน เอ็นจีโอ รวมถึงสิ่งใหม่ในขณะนั้น อย่าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เข้ามาช่วยกันประกอบสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แข็งแรง

โกรันบอกว่า ขณะเดียวกันก็ทำให้ระบบขยายจากการ รักษา เพียงอย่างเดียว ไปสู่ระบบการ ส่งเสริม สุขภาพ ป้องกันโรคด้วย

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม แม้ระบบของไทยยังไม่ได้ดีเลิศ แต่ นพ.สงวนได้เป็นผู้ริเริ่มระบบนี้ ไม่ใช่แค่ในไทยอย่างเดียว แต่เป็นจุดกำเนิดสำคัญที่ทำให้โลกได้เห็นว่า ประเทศอื่นๆ ก็สามารถสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เช่นกัน ผลลัพธ์ก็คือ องค์การสหประชาชาติประกาศเมื่อปี 2558 ให้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นหนึ่งใน เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อผลักดันให้ทั่วโลกสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ได้ภายในปี 2573″ โกรันกล่าว

นอกจากนี้ โกรันบอกว่า หากทำสำเร็จจะช่วยชีวิตคนทั่วโลกได้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศยากจนที่คนมหาศาลเสียชีวิตจากการที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาราคาถูกได้

“ด้วยเหตุนี้ นพ.สงวนจึงไม่ได้เป็นแค่ผู้สร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีบทบาทสำคัญให้ทั่วโลกสร้างระบบสุขภาพถ้วนหน้าตามรอยประเทศไทยอีกด้วย” โกรันระบุ

ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิมิตรภาพบำบัด กล่าวว่า ภาคประชาชนถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย และหากไม่มีภาคประชาชน ก็คงไม่ได้เห็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประสบความสำเร็จอย่างในวันนี้

“ภาคประชาชนที่ นพ.สงวนริเริ่มให้มีส่วนร่วมกับนโยบาย ยังทำหน้าที่อย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ปี 2543 เริ่มตั้งแต่การลงชื่อมากกว่า 6 หมื่นรายชื่อ สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หรือการเริ่มต้นของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เพื่อรักษาระบบให้ได้มาตรฐาน และสืบทอดเจตนารมณ์ของ นพ.สงวนไว้” นพ.วิชัยกล่าว และว่า ตัวชี้วัดสำคัญคือประชาชน 49 ล้านคน ที่ใช้สิทธิบัตรทอง มีความพอใจมากกว่ากลุ่มผู้ประกันตน 10 ล้านคน ที่ใช้สิทธิประกันสังคม และกลุ่มข้าราชการที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

นพ.วิชัยบอกว่า แม้ 30 บาทรักษาทุกโรคจะมาหลังสุด แต่ความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการกลับมากที่สุด และแม้โครงการจะได้รับการยกย่องไปทั่วโลก แต่ก็ยังมีความท้าทายจากบรรดา นักการเมือง และบรรดาผู้มีอำนาจในรัฐบาลจำนวนหนึ่งที่พยายามบิดเบือนหลักการ และพยายามยกเลิกนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ด้วยเหตุนี้ ภาคประชาชนจึงต้องเข้ามาทำหน้าที่ ปกป้อง อย่างใกล้ชิด และยังคงต้องติดตามการทำงานของ สปสช.และรัฐบาลตลอดเวลา

อีกกลุ่มหนึ่งที่กระตือรือร้นไม่แพ้กัน คือ อปท. ตัวอย่างของ อปท.ที่เข้มแข็งคือ พูลสวัสดิ์ ถือคง นายกเทศมนตรีตำบลเขาพระงาม จ.ลพบุรี ที่ได้รับรางวัลบริการสาธารณะยอดเยี่ยมขององค์การสหประชาชาติ ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี 2560 จากผลงานโครงการบ้านต้นแบบสุขภาวะผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุ ที่มีการนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปจัดบริการดูแลทั้งผู้สูงอายุ และเด็กในพื้นที่

พูลสวัสดิ์กล่าวว่า การดูแลของเทศบาลเขาพระงามเริ่มจากการสำรวจผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการในพื้นที่ ตามด้วยการจัดหาทีมบุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เข้าไปดูแลคนกลุ่มนี้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และแพทย์จากโรงพยาบาล (รพ.) พระนารายณ์มหาราช และ รพ.อานันทมหิดล เข้าไปติดตามเดือนละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ยังเพิ่มความท้าทายใหม่ๆ ด้วยการติดตามกลุ่มที่จะมีอายุเกิน 60 ปี ในเวลาอันใกล้ เพื่อประเมินว่ามีใครบ้างที่เสี่ยงจะเป็นโรคในอนาคต เพื่อส่งทีมเข้าไปป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ

พูลสวัสดิ์บอกว่า ขณะเดียวกันได้แบ่งกลุ่มผู้สูงอายุเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มติดสังคม ติดบ้าน และติดเตียง โดยกลุ่มติดเตียง ได้สร้างระบบดูแลแบบประคับประคอง กลุ่มติดบ้าน จัดหา ผู้ดูแล เข้าไปติดตามเป็นประจำ รวมถึงสร้างระบบที่สามารถขอความช่วยเหลือจาก รพ.สต.ได้ตลอดเวลา ที่น่าสนใจคือกลุ่มติดสังคม ที่เทศบาลจัดให้อบรมร่วมกับเด็กระดับชั้นประถม ไม่ว่าจะเป็นการเรียนภาษาอังกฤษ หรือการเรียนจินตคณิต รวมถึงการเต้นแอโรบิก การดูแลสุขภาพเบื้องต้น

“เป็นการลดช่องว่างระหว่างวัย ทำให้ผู้สูงอายุและเด็กในพื้นที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น เข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะในเวลาที่พ่อแม่เด็กต้องออกไปทำงาน สองกลุ่มนี้จะใกล้ชิดกันมากที่สุด” พูลสวัสดิ์กล่าว และว่า ทั้งหมดนี้ได้รับงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น ในส่วนของการส่งเสริมป้องกันสุขภาพระดับพื้นที่ ซึ่งทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างราบรื่น อีกทั้งในอนาคตเทศบาลตำบลเขาพระงามยังวางแผนเป็น เมืองอัจฉริยะ อาศัยสมาร์ทโฟน สร้างแอพพลิเคชั่นเชื่อมโยงผู้สูงอายุในพื้นที่กับ รพ.สต.และแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนขยายการบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น

สะท้อนว่า การเริ่มต้นของ นพ.สงวน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ไม่ได้เป็นแค่นโยบายที่เกิดขึ้นแล้วจบไป แต่ ณ เวลานี้ สามารถฝังรากลึกไปถึงระดับชุมชน สามารถนำประโยชน์จากโครงการไปสร้างความยั่งยืนให้ตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพิงการสั่งการจากส่วนกลางอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image