คณะกรรมการ วลพ.มีมติรับคำร้องนิสิตจุฬาฯ ขอแต่งกายตามเพศสภาพ

สืบเนื่องจากกรณี 3 นิสิตข้ามเพศ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ตามพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้คุ้มครองดูแลและไต่สวนกรณีที่ไม่สามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ และถูกอาจารย์พิเศษท่านหนึ่งเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศนั้น

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่อาคารยิปซั่ม ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ ศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี ประธานคณะกรรมการ วลพ. เปิดเผยภายหลังประชุมวลพ. ซึ่งมีวาระพิจารณาคำร้อง 3 นิสิตจุฬาข้างต้น ว่า คณะกรรมการ วลพ.ได้มีมติเอกฉันท์รับคำร้องดังกล่าว เพราะเห็นว่าอยู่ในขอบเขตอำนาจพิจารณาได้และได้มอบให้คณะอนุกรรมการชุดที่ 3 ซึ่งมีกรรมการวลพ. 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะ ไปดำเนินการเรียกผู้ร้องและผู้ถูกร้องมาไต่สวนและชี้แจง ก่อนประมวลความคิดเห็นสรุปเสนอให้คณะกรรมการวลพ.ชุดใหญ่พิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ ยังมอบให้คณะอนุกรรมการชุดที่ 3 ไปพิจารณาเชิญผู้ร้องมาไต่สวนดูเหตุการณ์ว่า กรณีนี้จำเป็นต้องมีการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวผู้ร้องหรือไม่

ศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี ประธานคณะกรรมการ วลพ.

“เรื่องนี้เป็นเรื่องความเชื่อดั้งเดิมของสังคม แต่ปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเราก็ควรยึดหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ระบุไว้และถูกให้ความสำคัญในรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา” ศ.มาลีกล่าวและว่า

สำหรับคำร้องดังกล่าวเป็นการร้องการกระทำของบุคคล คณะ และมหาวิทยาลัย ซึ่งครอบคลุมเพียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ได้รวมถึงมหาวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่งหากต้องการดังกล่าวจะต้องมาร้องกับคณะกรรมการ วลพ.เอง ซึ่งระยะหลังก็มีเข้ามาหลายมหาวิทยาลัยแล้ว แต่จะให้คณะกรรมการ วลพ.หยิบยกเรื่องมาพิจารณาเองไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะอย่างกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกประกาศไม่รับนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง ซึ่งเป็นข่าวใหญ่โต ปรากฏว่าไม่มีใครมาร้องกับคณะกรรมการ วลพ.เลย ทำให้ไม่สามารถออกมาตรการคุ้มครอง หรือเกิดการไต่สวนพิจารณาว่าเป็นเรื่องการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศหรือไม่

Advertisement

พิ้งค์ จิรภัทร (ขอสงวนนามสกุล) นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ผู้ยื่นคำร้องขอแต่งกายชุดนิสิตตามเพศสภาพ กล่าวภายหลังรับทราบมติคณะกรรมการ วลพ.ว่า รู้สึกดีใจกับมติดังกล่าว เพราะเหมือนว่าทางผู้ใหญ่เห็นปัญหาตรงนี้ อยากเข้ามาช่วยแก้ปัญหา และอยากทำให้เกิดความเท่าเทียมขึ้น ตนยังเชื่อว่าคณะกรรมการ วลพ.จะทำให้การดำเนินการเรื่องนี้ชัดเจนและโปร่งใส จากการดำเนินการที่ผ่านมาของคณะที่เหมือนตรวจสอบคนกันเอง ทำให้ตนและนิสิตข้ามเพศคนอื่นอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร อย่างอาจารย์พิเศษที่พูดดูถูกเหยียดหยามคนที่มีเพศหลากหลาย จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้มีมติของทางคณะหรือทางมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด และยังกลับมาสอนตามปกติ ทั้งนี้ ขณะนี้ทางพิ้งค์และกลุ่มพลังบันดาลใจคนข้ามเพศ (transpiration power) ก็ได้เตรียมเอกสารหลักฐานไว้พอสมควรสำหรับการไต่สวน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะเหตุแห่งเพศจริงๆ

จิรภัทรกล่าวอีกว่า แม้ที่ผ่านมาอธิการบดีจุฬาฯ จะมีคำสั่งบรรเทามติคณะครุศาสตร์ จนทำให้ตนสามารถแต่งกายชุดนิสิตข้ามเพศและสอบไล่ระดับได้ แต่ก็ให้เฉพาะตนเพียงคนเดียว และยังไม่ครอบคลุมกับสิ่งที่ร้องขออื่นๆ ซึ่งในปัจจุบันตนเองก็ยังถูกบอกให้ไปใช้ห้องน้ำคนพิการอยู่ ซึ่งมีสภาพชำรุดและสกปรกมาก รวมถึงการอนุญาตให้แต่งกายเพื่อไปฝึกสอนตามเพศสภาพ ซึ่งในปัจจุบันการฝึกสอนยังต้องไปตัดผมและแต่งตัวเป็นผู้ชายก่อน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะเป็นกรณีตัวอย่างให้นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ได้ลุกขึ้นเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมต่อไป

“หลายคนเข้าใจว่าขบวนพาเหรดในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯครั้งล่าสุด ในส่วนของจุฬาฯ ที่ให้นิสิตข้ามเพศได้ไปร่วมเดิน แสดงว่าจุฬาฯให้ความสำคัญเรื่องนี้แล้วนั้น จริงๆไม่ใช่เลย พาเหรดดังกล่าวเป็นความคิดของกลุ่มนิสิตด้วยกันเอง ไม่ใช่เกิดจากผู้ใหญ่คิดขึ้น” จิรภัทรกล่าว

Advertisement

ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image