จิตแพทย์เผยกรณี ‘คบซ้อน’ ปัญหาจากสมองส่วนคิดน้อยกว่าสมองส่วนอยาก

ตามที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโซเชียลฯ กรณี ป๊อบ ปองกูล ยอมรับคบซ้อนระหว่างปลา แฟนสาวนอกวงการ ซึ่งเพิ่ง เข้าพิธีวิวาห์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะที่แฟนที่ออกสื่อบ่อยๆ คือ โบว์ ก็โพสต์ว่าเพิ่งทราบเรื่อง เพราะก่อนวันแต่งงาน 1 วันยังไปอวยพรวันเกิดร่วมกัน จนกลายเป็นกระแสดราม่า  และเกิดการถกเถียงว่า ใครอยู่ฝ่ายไหน และตำหนิฝ่ายชายต่างๆนั้น

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์  นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีนี้ ว่า  การมีแฟนนั้นสิ่งสำคัญต้องนึกถึงใจเขาใจเรา เพราะเวลามีสัมพันธภาพกับใครก็ต้องการให้มีความไว้วางใจน่าเชื่อถือ และหากเราต้องการได้รับสิ่งเหล่านี้ก็ต้องทำในสิ่งเดียวกัน โดยต้องรู้จักใช้สมองส่วนคิดควบคุมความอยาก เพราะการคบกันเราสามารถจะมีใจไขว้เขวได้จากสมองส่วนอยาก  แต่เราสามารถยับยั้งพฤติกรรมเหล่านี้ได้ด้วยการใช้สมองส่วนคิด รู้สึกได้แต่ไม่ทำ เพราะสมองส่วนคิดมีความเข้มแข็งมากกว่า อย่างไรตาม การที่เกิดเหตุการณ์การคบซ้อนเป็นเพราะเราใช้แต่สมองส่วนอยากไม่ได้มีการใคร่ครวญ   ผู้ที่ทำเพราะคิดว่าตัวเองมีสิทธิ แต่ลืมคิดว่าหากเป็นตัวเองอยากให้การคบโดยคบเราเป็นทางเลือกหรือไม่

“การที่ใช้ความคิดตามใจเราเอง  มันก็จะมีปัญหาได้ ถึงแม้จะคบเป็น 10 ปีก็มีปัญหาได้ เพราะไม่มีความลับในโลก อย่างไรก็ตาม ความรักนั้นไม่ได้รักกันเพียงปีหรือ 2 ปี แต่เป็นสัมพันธภาพที่ยืนยาว ซึ่งไม่ได้อยู่ที่ความหวานชื่น แต่ตัวที่สำคัญคือ มีความผูกพันและมีความรับผิดชอบ  แต่ความรู้สึกที่พิศวาสความรักหวานชื่นเป็นความรักส่วนอยาก แต่ความยั่งยืน คือ ความรักที่ทุกคนใฝ่ฝัน  ซึ่งจะมาจากความผูกพันและความรับผิดชอบ ที่ต้องมาจากสมองส่วนคิดเป็นหลัก รู้จักมองใจเขาใจเรามองระยะยาว คนก็จะได้ข้อคิดสำหรับตัวเองมากขึ้น” ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าว

เมื่อถามว่านอกจากความสัมพันธ์ของ คน 2- 3 คนแล้ว พอโซเชียลมีการเสพสื่อก็มีอารมณ์ร่วมตอบโต้รุนแรงบ้างมีการยั่วยุให้เลิกกันนั้นต้องแนะนำกลุ่มนี้อย่างไร นพ.ยงยุทธ กล่าวว่ากรณีนี้จะเรียกว่า  blame Speech คือ การตำหนิกันเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว โดยเริ่มใช้ถ้อยคำตำหนิที่รุนแรง ต้องยึดหลัก 2 ไม่ 1 เตือน ประกอบด้วย 2 ไม่ คือ 1.ไม่สื่อสารความรุนแรง 2.ไม่ต่อความรุนแรง และ เตือน ด้วยถ้อยคำที่สุภาพและนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง ส่วนการจะไม่ให้เกิดความหวาดระแวงนั้น ก็ต้องมีความไว้วางใจเป็นกติการ่วมกันใช้หลักสัญญาใจ  เพราะไม่สามารถติดตามชีวิตคนรักได้ตลอดเวลา   อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายใดละเมิดกติกาหรือสัญญาก็จะสิ้นสุดลง

Advertisement

“การส่งสารที่ไม่ดีสะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพจิตเราไม่ดี การเข้าไปในสังคมออนไลน์จะขาดการยับยั้งชั่งใจดึงเอาสิ่งที่ไม่ดีออกมาทำให้ส่งผลกระทบต่อคนที่เรารัก หากเราไม่อยากเจอสถานการณ์นี้ เราต้องยึดถึงใจเขาใจเราอย่าลดระดับคุณภาพจิตของเราให้ต่ำ เพราะการส่งต่อข้อความที่ไม่ดีก็ถือเป็นการลดระดับสภาพจิตของเรา เพราะสภาพจิตถือว่าสำคัญ  คือ  มีอารมณ์ด้านบวก ด้านบวกให้มาก มีอารมณ์ด้านลบให้น้อย  มีคุณภาพจิตที่ดี มีความสามารถทางจิตใจ   เช่น  การจัดการกับอารมณ์และความเครียด มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น หากเราจะเดินหน้าต่อไปเราก็ต้องรู้จักนำเรื่องนี้มาปรับใช้ทำให้คุณภาพจิตของเราดีไม่ทำให้สุขภาพจิตเราต่ำลง” นพ.ยงยุทธ กล่าว และว่า    ส่วนคนที่อาจมีปัญหา ก็อย่าลืมว่าเราต้องหาความช่วยเหลือ หาที่ปรึกษาหาหน่วยบริการ โดยคนใกล้ตัวก็ให้ยึดหลัก 3 ส 1.สอดส่องมองหาคนใกล้ว่ามีปัญหา 2. ใส่ใจรับฟัง และ3.ส่งต่อเชื่อมโยง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image