“หมอธเรศ” เตือนเกษตรกร ขออนุญาตปลูกผลิตกัญชาเฉพาะรายไม่ได้ ต้องรวมกลุ่มตามกม.เท่านั้น

“หมอธเรศ”เผยร่างประกาศนิรโทษครอบครองกัญชา ไร้โทษ 90 วัน คาดประกาศราชกิจจาฯไม่เกิน เย็นนี้   ส่วนประชาพิจารณาร่างกม.ลูกอีก 3 ฉบับ  ‘การขออนุญาตผลิต-ตำรับยา-แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน’ ความเห็นหลากหลาย ห่วงสุดปัญหาการใช้ยาของหมอพื้นบ้าน เรียกร้องใช้ได้ในคลินิกเอกชน ขอส่งกก.พิจารณาอีกครั้ง  

ตามที่นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ลงนามในร่างประกาศ 3 ฉบับเกี่ยวกับการนิรโทษการครอบครองกัญชาภายใน 90 วันเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มองค์กรวิจัย สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ แพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย กลุ่มผู้ป่วย และกลุ่มบุคคลอื่นๆ หากมาแจ้งครอบครองไม่ต้องรับโทษ โดยอยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาคาดว่าจะประกาศใช้เร็วๆนี้ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมอาหารและยา(อย.) ได้จัดทำร่างกฎหมายรองตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 7 ) พ.ศ.2562  อีก 3 ฉบับใหม่ และได้ทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นนั้น

กัญชา-ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์  ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้จัดประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7 ) พ.ศ.2562  โดยร่างกฎหมายลำดับรอง หรือกฎหมายลูก 3 ฉบับที่เปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.ร่างกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ.. 2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพ เพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ.. และ 3. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่สามารถปรุงและสั่งจ่ายตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ได้ พ.ศ..

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์  เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดรับฟังความคิดเห็น ว่า ครั้งนี้เป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นแบบโฟกัสกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้อง และจะเปิดรับฟังผ่านทางออนไลน์จนถึงวันที่ 1 มีนาคม หลังจากนั้นก็จะรวบรวมความคิดเห็นเสนอต่อคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษพิจารณาทั้ง 3 ฉบับภายในต้นเดือนมีนาคม  แต่สำหรับฉบับที่เป็นร่างกฎกระทรวงจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาและเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกรอบ โดยเสนอเข้าครม.ต้องดำเนินการภายในรัฐบาลชุดนี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนร่างประกาศกระทรวงอีก 2 ฉบับเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งจะเหมือนกับประกาศกฎหมายนิรโทษการครอบครองกัญชา 3 ฉบับก่อนหน้านี้ ที่รัฐมนตรีฯลงนาม และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ในส่วนของร่างประกาศนิรโทษการครอบครองกัญชานั้น คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่เกินภายในวันนี้ (26 ก.พ.)  และจะสามารถใช้ได้ในวันถัดไป

Advertisement

นพ.ธเรศ กล่าวว่า วันนี้ได้รับความคิดเห็นที่มีประโยชน์หลายด้าน โดยหลักๆ คือ 1.มีความเป็นห่วงเรื่องการใช้ของแพทย์แผนไทย 2.เรื่องของคนไข้ ซึ่งมีความเห็นว่าจะทำอย่างไรให้เข้าถึงยาที่มีส่วนประกอบของกัญชาอย่างเหมาะสม 3. มีภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องมาร่วมแสดงความคิดเห็นคือ สัตวแพทย์ สอบถามมาว่าจะสามารถวิจัยกัญชาเพื่อรักษาสัตว์ได้หรือไม่ และจะมีขั้นตอนในการขออนุญาตอย่างไร จริงๆ ระบบได้ออกแบบเพื่อส่งเสริมการวิจัยอยู่แล้ว แต่ในเรื่องการวิจัยในสัตว์อาจจะมีความจำเพาะหรือไม่ ตรงนี้จะนัดหารือนอกรอบอีกครั้ง นอกจากนี้ ในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูก ต้องขอย้ำว่า กฎหมายเป็นการคลายล็อก เพื่อให้มีการใช้ทางการแพทย์ ดังนั้น ก่อนปลูกต้องได้รับอนุญาตก่อน

“ขอชี้แจงว่า  ขั้นตอนการปลูกต้องยึดโยงการวิจัย เพราะกฎหมายใหญ่อนุญาตการวิจัยทางการแพทย์ โดยต้องมีโครงการวิจัยร่วมกับภาครัฐ และหากจะผลิตยาก็ต้องระบุว่า ผู้ใดของภาครัฐเป็นผู้ผลิต เช่น องค์การเภสัชกรรม เภสัชทหาร ฯลฯ จึงฝากเกษตรกรศึกษาเรื่องนี้ก่อนลงมือทำอะไร” นพ.ธเรศกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีคำถามว่าแพทย์แผนไทยที่อนุญาตให้ใช้ไม่ได้ระบุว่าใช้ในสถานพยาบาลเอกชน จะเพิ่มได้หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นข้อสังเกตมาตั้งแต่แรกแล้ว แต่วันนี้ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น ก็จะนำไปรวบรวมและเสนอให้กับอนุกรรมการ และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ต้องรวบรวมข้อมูลและพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง

Advertisement

เมื่อถามว่ากรณีผู้ที่สนใจจะปลูกและผลิต จะสามารถยื่นเรื่องกับทาง อย.ได้เมื่อไหร่ อย่างไร นพ.ธเรศ กล่าวว่า

กลไกการผลิตมีกฎกระทรวงเดิมอยู่ เพียงแต่มีข้อกำหนดต่างๆ ก็สามารถสอบถามมาทาง อย.ได้ หรือโทรสายด่วนได้ที่ 1556 กด 3 เป็นสายด่วนเรื่องกัญชาโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าสำหรับผู้จะปลูก ผลิตสกัดสารจากกัญชาต้องร่วมกับภาครัฐภายใน 5 ปีแรกเป็นไปตามกฎหมายใหญ่  อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ผลิตต้องพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขตามประกาศหรือไม่ เป็นเกษตรกรเดี่ยวๆ ไม่ได้ ต้องรวมกลุ่มกัน และต้องมีโครงการร่วมกับภาครัฐด้วย อันนี้เป็นกรอบของพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ให้อำนาจไว้ ซึ่งทางอย.ได้จัดทำร่างกฎหมายลูกตามกฎหมายใหญ่เท่านั้นเอง

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าสรุปแล้วแพทย์แผนไทยที่จะใช้กัญชาทางการแพทย์ต้องผ่านการรับรองหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ต้องผ่านการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งเตรียมระบบรองรับอยู่  อย่างไรก็ตาม ทางคณะทำงานด้านวิชาการได้มีการพิจารณาอยู่ อย่างในร่างประกาศเกี่ยวกับตำรับยาที่มีกัญชาผสมอยู่ เบื้องต้นให้ไว้ 16 ตำรับ  แต่ไม่ได้ปิดกั้นตำรับอื่นๆ  เพียงแต่ต้องศึกษาไปเรื่อยๆ ว่าตำรับที่เหลือมีความปลอดภัยก็ประกาศเพิ่มได้ ส่วนแพทย์แผนไทยก็ต้องผ่านการรับรอง และขณะนี้ตามกฎหมายยังต้องใช้ผ่านสถานพยาบาลของรัฐอยู่ แต่เมื่อมีคำถามว่าใช้ในคลินิกเอกชน หรือสถานพยาบาลของเอกชนได้หรือไม่ ก็ต้องรวบรวมความคิดเห็นและเสนอต่อคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษต่อไป อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญไทยไม่ได้ใช้กัญชามานาน แต่เมื่อองค์ความรู้เปลี่ยนไป เราก็อยากเปิดช่องทางการแพทย์ แต่ก็ต้องระวังในเรื่องความปลอดภัยด้วย จึงต้องดูทุกอย่างอย่างรอบคอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image