อุทยานวิทย์ฯ ภาคเหนือ ชูแพลตฟอร์มเด่น จับคู่ธุรกิจ-แหล่งทุน ช่วยเอกชนรุ่ง

อุทยานวิทย์ฯ ภาคเหนือ ชูแพลตฟอร์มเด่น จับคู่ธุรกิจ-แหล่งทุนช่วยภาคเอกชนรุ่ง

วันที่ 1 มีนาคม ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) กล่าวว่า อุทยานฯ ได้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านจับคู่ธุรกิจกับแหล่งทุนในโครงการโครงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ (IRTC) นับตั้งแต่ปี 2556 ผ่าน 7 มหาวิทยาลัยในเครือข่ายอุทยานฯ คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม่โจ้ แม่ฟ้าหลวง พะเยา นเรศวร ราชภัฏพิบูลสงคราม และ ราชภัฏอุตรดิตถ์ โดยสามารถช่วยพัฒนาขีดความสามารถของภาคเอกชนไปแล้วจำนวน 380 ผลงาน สามารถสร้างมูลค่าการลงทุนทำวิจัยของภาคเอกชนได้กว่า 123 ล้านบาท เกิดการขยายหน่วยงานวิจัย ในภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจำนวน 54 แห่ง เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 169 อัตรา และสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต ที่พัฒนาเพิ่มขึ้นจากโครงการได้ประมาณ 310 ล้านบาท

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ กล่าวว่า ยกตัวอย่างการพัฒนาต่อยอดธุรกิจผ่านโครงการ IRTC แก่ บริษัท กรีนไดมอนด์ จำกัด หรือ บุญสมฟาร์มเอกชนผู้เพาะเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองสายพันธุ์ไทยรายแรกและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยได้ร่วมมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ดร.สุทัศน์ สุระวัง อาจารย์สังกัดสาขาวิชาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายเกลียวทองสายพันธุ์ไทยโดยเกิดเป็นผลผลิตนวัตกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสาหร่ายชนิดนี้ด้วย

Advertisement

 

Advertisement

“ปัจจุบัน บริษัท กรีนไดมอนด์ จำกัด ได้ร่วมโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในการวิจัยและพัฒนาสาหร่ายเกลียวทองสายพันธุ์ไทยร่วมกับ ผศ.ดร.ยิ่งมณี ตระกูลพัว อาจารย์สังกัดสาขาจุลชีววิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยข้อมูลการวิจัยเผยว่า จากการวิเคราะห์และทดสอบ พบว่า สารสกัดจากสาหร่ายเกลียวทองมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระได้ถึง 50% และยังช่วยลดการอักเสบของผิว จากเซลล์ที่เกิดการอักเสบได้ ทั้งนี้ จากผลวิจัยดังกล่าว บริษัทฯ จึงแตกไลน์ผลิตภัณฑ์เพิ่มไปยังกลุ่มเครื่องสำอางบำรุงผิวด้วยสารสกัดสาหร่ายเกลียวทอง และจากการทดสอบกับอาสาสมัครจำนวน 50 คน พบว่า มีความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์กว่า 90% ปัจจุบันอยู่ในช่วงการจดทะเบียนเป็นเวชสำอางพร้อมทดสอบตลาดและวางแผนการผลิตในระดับอุตสาหกรรม”ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image