เปิดหน้าที่ 2 หน่วยงานสาธารณสุข ‘อย.-อภ.’ ใครทำอะไร ‘กัญชาทางการแพทย์’

จากสถานการณ์ความเข้าใจที่อาจสับสน ระหว่าง 2 หน่วยงานทางด้านสาธารณสุข คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับประเด็นกัญชาทางการแพทย์

หนังสือพิมพ์มติชน และมติชนออนไลน์ จึงขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับพันธกิจทั้ง 2 หน่วยงาน  ดังนี้

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มีวิสัยทัศน์งาน ด้าน อย. คือ

เป็นองค์กรหลักด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อประชาชนสุขภาพดี

Advertisement

กล่าวคือ   เป็นองค์กรหลัก หมายถึง เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่โดยตรง

คุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ หมายถึง การควบคุม กำกับดูแล ตรวจสอบ เฝ้าระวังทั้งก่อนและหลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ส่งเสริมผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ หมายถึง พัฒนาศักยภาพ และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการให้สามารถประกอบการได้ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด รวมถึงยกระดับมาตรฐานการประกอบการให้สามารถแข่งขันได้

Advertisement

ประชาชนสุขภาพดี หมายถึง ประชาชนไม่เสียชีวิต หรือเจ็บป่วยร้ายแรง (Serious injury) จากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้อง

โดยในเรื่องของกัญชาทางการแพทย์นั้น ทาง อย. มีหน้าที่ในการออกกฎเกณฑ์ต่างๆในการควบคุม ดำเนินการเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562

ส่วน องค์การเภสัชกรรม หรือ อภ. มีพันธกิจ ดังนี้

ภารกิจ (ตามพระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509)
1. ผลิตยาและเวชภัณฑ์
2. ส่งเสริมให้มีการศึกษาและวิจัยการผลิตยาและเวชภัณฑ์
3. ส่งเสริมการวิเคราะห์ยาและเวชภัณฑ์รวมทั้งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาและเวชภัณฑ์
4. ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน และให้ซึ่งยาและเวชภัณฑ์
5. ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยาและเวชภัณฑ์

ภารกิจ (ตามวิสัยทัศน์)
1. ผลิต จำหน่ายและบริการผลิตภัณฑ์สุขภาพ มุ่งสู่มาตรฐานสากล
2. ดำเนินธุรกิจให้มีศักยภาพในการแข่งขันในอาเซียนและสามารถพึ่งตนเองได้
3. รักษาระดับราคายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อสังคมไทยเพื่อประชาชนสามารถเข้าถึงได้
4. วิจัยและพัฒนายาและเวชภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการและความจำเป็นต่อสังคม
5. สำรองยาและเวชภัณฑ์ไว้ยามฉุกเฉินเพื่อความมั่นคงของชาติ

ภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข

1. รักษาระดับราคายาและเวชภัณฑ์ไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นโดยเร็ว
2. รักษาคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน
3. จัดหาและสนองความต้องการด้านยาและเวชภัณฑ์ให้แก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
4. จัดหาและสนองความต้องการด้านวัคซีนและเซรุ่มให้แก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
5. สำรองยาและเวชภัณฑ์ตามแผนเตรียมพร้อมแห่งชาติ
6. จัดหา ส่งยาและเวชภัณฑ์แก่กองทุนและเวชภัณฑ์ประจำหมู่บ้านตามเป้าหมายของโครงการสาธารณสุขมูลฐาน
7. สนับสนุนนโยบายสาธารณสุขอื่นๆ นอกจากเรื่องยา และนโยบายที่เกี่ยวกับยาและเวชภัณฑ์ ทั้งด้านการผลิต การจัดหา การกระจาย การบริโภค การควบคุมการพึ่งตนเอง การใช้เทคนิคและทรัพยากรที่เหมาะสมภายในประเทศ

ทั้งนี้ ในเรื่องของกัญชาทางการแพทย์นั้น ทางอภ.มีหน้าที่ในการวิจัยพัฒนา และผลิตสารสกัดกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ แน่นอนว่า โครงการระยะแรก ที่มีการปลูกกัญชาในโรงเรือนระบบปิด เพื่อสกัดน้ำมันกัญชารักษาโรคให้แล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2562 เบื้องต้นล็อตแรกจำนวน 2,500 ขวด  
ดังนั้น หน่วยงานทั้ง 2 หน่วยงาน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และองค์การเภสัชกรรม(อภ.) จึงมีความแตกต่างในเรื่องหน้าที่และการดำเนินงานอย่างชัดเจน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image