อย.เผยหมอ 2 ราย ร่วมขบวนการลักลอบใช้สารต้องห้าม! ขายยาลดความอ้วน

หลังตรวจสอบพบว่ามีการลักลอบขายยาลดความอ้วน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  สนธิกำลังร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้ยุทธการสยบไพรี เข้าตรวจค้นและจับกุมผู้ลักลอบนำยาลดความอ้วนออกมาขายนอกระบบ โดยไม่มีการจ่ายให้กับผู้ป่วยตามที่ได้รับอนุญาต ยาส่วนหนึ่งขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต บางส่วนขายให้ผู้ค้ารายย่อยขายต่อทางโซเชียล รวมทั้งลักลอบส่งออกไปต่างประเทศ ที่สำคัญยังพบว่ามีความร่วมมือระหว่างนายทุนกับแพทย์ในการลักลอบใช้สารวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทด้วยนั้น

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

รวบสาวนายทุนใหญ่ขาย ‘ยาลดความอ้วน’ เงินหมุนเวียน 100 ล้าน

อย.เปิดข้อมูลทลาย ‘ธุรกิจลดความอ้วน’ พบแพทย์ลักลอบนำวัตถุออกฤทธิ์มาใช้

Advertisement

ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ทางอย.ทราบเรื่องนี้มานานและได้วางแผนร่วมกับทางศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศอ.ปส.ตร.) ในการตรวจจับผู้ลักลอบนำยาลดความอ้วนที่จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตัวยา Phentermine (เฟนเตอร์มีน) ชื่อการค้า Duromine (ดูโรมีน) และ Panbesy (แพนบีซี่) มาจำหน่าย ซึ่งรวมๆแล้วได้มีการกระจายการจับกุม 33 จุด แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 13 จุด และต่างจังหวัดอีก 20 จุด มีอุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา หนองบัวลำภู สระบุรี นนทบุรี สุโขทัย ตาก และพิษณุโลก  ที่สำคัญยังพบว่า มีแพทย์ร่วมในขบวนการลักลอบใช้สารที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 จำนวน 2 ราย ซึ่งอยู่ในคลินิกเอกชน

“เราพบว่าแพทย์ทั้ง 2 รายเป็นแพทย์คลินิกเอกชนอยู่ในต่างจังหวัด แต่ต้องขออนุญาตยังไม่เปิดเผยข้อมูลหรือในรายละเอียดมากนัก เพราะอยู่ในระหว่างดำเนินคดี ซึ่งทางแพทย์ก็มีสิทธิในการสู้คดีอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย ทางอย.ได้สั่งระงับการใช้ยาในกลุ่มนี้หมดแล้ว เนื่องจากจริงๆ ตามกฎหมายการขออนุญาตการใช้สารดังกล่าวนั้น ทางคลินิก หรือสถานพยาบาลทุกแห่งจะต้องขอทางอย.เข้ามา และเมื่อได้รับอนุญาต จะต้องมีการรายงานว่า จ่ายยาไปให้ใคร จำนวนเท่าไหร่ กี่คน แต่ใน 2 รายที่อยู่ในข่ายลักลอบครั้งนี้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งก็ต้องถูกดำเนินคดี ขั้นต่อไปทาง อย.จะแจ้งไปยังทางแพทยสภาเกี่ยวกับแพทย์ทั้ง 2 ราย รวมทั้งจะแจ้งไปทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)เกี่ยวกับคลินิกดังกล่าวด้วย” นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า  ที่ผ่านมาพบว่าส่วนหนึ่งมีการขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต และอีกส่วนหนึ่งขายให้กับผู้ค้ารายย่อยนำไปขายต่อผ่านทางแอปพลิเคชัน ไลน์ ไอจี และเฟซบุ๊ก นอกจากนี้ มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น จีน แคนาดา ฟิลิปปินส์ เป็นต้น เบื้องต้นมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 – 2,000,000 บาท ส่วนหากจะมีการสู้คดีก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image