อย. จ่อเอาผิดคนรีวิว ‘เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์’ เหตุทำเข้าใจสาระสำคัญผลิตภัณฑ์ผิด

อย. จ่อเอาผิดคนรีวิว “เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์” เหตุทำเข้าใจสาระสำคัญผลิตภัณฑ์ผิด มีโทษคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีบริษัทน้ำเมาออกผลิตภัณฑ์เครื่อมดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ แต่โฆษณาเป็นเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือแอลกอฮอล์ 0% ว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ก็ได้มีการเสนอประเด็นนี้ขึ้นมาว่า จะต้องมีการดำเนินการอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย อย่างสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ต้องมาร่วมกันดูกฎกติกาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งคอนเซ็ปต์ คือ ไม่อยากให้มีการเลี่ยงบาลีกฎหมาย โดยเจตนาใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาโฆษณา ซึ่งตนก็ได้ตั้งคำถามไปในที่ประชุมว่า ผลิตภัณฑ์แบบนี้ ใช้คำว่า “เบียร์” ได้หรือไม่

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เครื่องดื่มที่มาขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารตามกฎหมายของ อย. กำหนดให้มีแอลกอออล์หลงเหลือไม่เกิน 0.5% หรือ 0.5 ดีกรี โดยต้องเป็นแอลกอฮอล์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการในการผลิต ไม่ใช่การเติมแอลกอฮอล์ลงไป หากเกินจากนี้ถือว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมายของกรมสรรพสามิต สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมอลต์ที่สกัดแอลกอฮอล์ออก และเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ที่มาขึ้นทะเบียนรับเลขสารบบอาหารจาก อย. มีจำนวน 23 รายการ ซึ่งเมื่อเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ดังนั้น การโฆษณาจะต้องขออนุญาตจาก อย.ก่อน และโดยยหลักการคือ ต้องห้ามโฆษณาเชื่อมโยงถึงเบียร์หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะเข้าข่ายโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญได้

Advertisement

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของสำนักอาหาร อย. พบว่า เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกฮอล์ ที่มีข่าวออกมาว่าโฆษณาเป็นเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นเรื่องของการออกมารีวิว ซึ่งถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เพราะเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้ขออนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และเข้าข่ายโฆษณาสรรพคุณคุณภาพอาหารที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่ง อย.จะมีการเชิญมาเปรียบเทียบ ส่วนจะเชื่อมโยงว่าบริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ต้องมาดูข้อมูลเนื้อหาต่อไป เช่น มีการจ้างชัดเจน หรือการรับผลประโยชน์จากบริษัทหรือไม่ ว่าบริษัทเป็นผู้โฆษณาหรือไม่ หากเป็นการจ้างบริษัทก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ

เมื่อถามว่าที่มีการโฆษณาเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ว่า ดื่มแล้วไม่เมา ดื่มได้ทุกที่ ทุกเวลา เป็นอาหารเจ ถือเป็นการโอ้อวดสรรพคุณหรือไม่  นพ.ธเรศ กล่าวว่า ใช่ ถือว่าเป็นการโฆษณาที่ทำให้เข้าใจสาระสำคัญผิด ดังนั้น การโฆษณาอย่างที่บอก คือ ต้องไม่สื่อในทำนองที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงถึงเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม และต้องแสดงข้อความ “เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือ สกัดแอลกอฮอล์ออก” คู่กับการแสดงภาพเครื่องดื่มทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์

Advertisement

“กรณีนี้อาจคล้ายกับกับการออกผลิตภัณฑ์น้ำดื่มหรือโซดา ที่มีการหวังผลในเรื่องของการโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งส่วนนี้ก็อาจต้องให้ทางสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พิจารณาว่าผิดเรื่องโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยหรือไม่  ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551” นพ.ธเรศ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image