แพทย์ชี้ ‘โรคโมยาโมย่า’ เกิดได้น้อยแต่ไม่ควรมองข้าม

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคโมยาโมย่า เป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดหนึ่งซึ่งพบได้ไม่บ่อยและพบได้น้อยในคนไทย มีรายงานพบโรคนี้ในคนญี่ปุ่น โดยเกิดในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 2 เท่า ช่วงอายุตั้งแต่ 6 ขวบ จนถึง 70 ปี พบมากในเด็กช่วงอายุ 10 ปีแรก ผู้ป่วยจะมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต แขนขาอ่อนแรง อาจมีอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ชัก หมดสติ ความจำลดลงหรือหลงลืม มีการเคลื่อนไหวแขนขาผิดปกติจากหลอดเลือดสมองตีบตัน หรือเกิดจากมีเลือดออกในสมอง ถ้ามีเลือดออกในสมองจะมีอัตราการตายสูง โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเลือดที่ออก และมีโอกาสเกิดอาการของโรคซ้ำหากไม่ได้รับการรักษา ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนหนึ่งมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

พญ.ไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โรคโมยาโมย่า เป็นคำมาจากภาษาญี่ปุ่น แปลว่ากลุ่มควัน ซึ่งจากการเอกซเรย์ฉีดสีหลอดเลือดสมองแล้วเห็นภาพเป็นเหมือนกลุ่มควัน โดยสาเหตุมาจากการหนาตัวผิดปกติของผนังหลอดเลือดชั้นในของหลอดเลือดแดงคาโรติดส่วนปลายในสมองทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นหลอดเลือดสำคัญที่ลำเลียงเลือดเข้าไปเลี้ยงสมองมีการหนาตัวผิดปกติของผนังหลอดเลือดชั้นกลาง จนทำให้เกิดการตีบและอุดตันในที่สุด สำหรับการรักษาโรคโมยาโมย่า มี 3 วิธีหลัก คือ 1.การผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณเนื้อสมองที่มีหลอดเลือดตีบตัน 2.การรักษาโดยใช้ยาต้านเกล็ดเลือด ขึ้นอยู่กับลักษณะของโรคและต้องระวังภาวะเลือดออกในสมอง ไม่ควรรักษาด้วยยาป้องกันลิ่มเลือดแข็งตัวเพราะจะทำให้เกิดเลือดออกในสมองได้ และการรักษาด้วยยาต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาและการดูแลใกล้ชิดจากแพทย์ 3.การทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูความพิการ 

ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ เช่น มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาการอ่อนแรงหรือชาอย่างเฉียบพลันที่ใบหน้า แขนหรือขา ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย พูดไม่ชัดหรือพูดลำบาก ตาลาย มองเห็นภาพซ้อน เดินเซ ทรงตัวลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยให้อาการลุกลาม โอกาสที่สมองจะขาดเลือดหรือมีเลือดออกในสมองจะมากขึ้น และอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image