กลุ่ม Change จับมือกรีนพีช ร้องคพ. แก้ปัญหาฝุ่นพิษ เสนอ 6 แนวทางแก้ฝุ่น PM2.5

กลุ่ม Change จับมือกรีนพีช ร้องคพ. แก้ปัญหาฝุ่นพิษ เสนอ 6 แนวทางแก้ฝุ่น PM2.5

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) น.ส.ชลธร วงศ์รัศมี และน.ส.ณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 พร้อมด้วยกลุ่มรณรงค์ผ่านแคมเปญ change.org และกลุ่มกรีนพืช กว่า 10 คน เข้ายื่นเสนอแนวทางการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 พร้อมนำรายชื่อสนับสนุน 20,660 รายชื่อ ให้มีการยกร่างมาตรฐาน PM2.5 โดยมีนายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผอ.กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เข้ารับเรื่อง

น.ส.ชลธร เผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบกับสุขภาพของประชาชนโดยตรง จึงอยากให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 62 เราจึงเริ่มรณรงค์ออนไลน์บน Change.org/PM2-5 ในหัวข้อ “ภาครัฐต้องออกมาตรการตั้งรับวิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่จะเกิดขึ้นซ้ำแน่นอน” โดยได้ศึกษาข้อมูลจากงานวิจัย สอบถามนักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม รวมรวมเป็นแนวทางการแก้ปัญหา PM2.5 ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

Advertisement

“โดยหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาที่กรมควบคุมมลพิษสามารถทำได้เลย คือ การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของคนไทย โดยยกร่างมาตรฐานค่า PM2.5 ในบรรยากาศ สำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้ค่าเฉลี่ย PM2.5 รายปีมีได้ไม่เกิน 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร (มคก./ลบ.ม.) และค่าเฉลี่ย PM2.5 ใน 24 ชั่วโมง มีได้ไม่เกิน 35 มคก./ลบ.ม. ภายในปี 2562” น.ส.ชลธร กล่าว

สำหรับข้อเสนอที่ทาง Change.org/PM2-5 ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา PM2.5 ในระยะเร่งด่วนและระยะยาว ได้แก่ 1.ยกระดับมาตรฐานให้ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 35 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปี ไม่เกิน 12 มคก./ลบ.ม. 2.ลดจำนวนรถ คุมควันดำให้สอดคล้องกับภาวะวิกฤติ เช่น สั่งการงดใช้รถ ไม่ใช่ขอความร่วมมือ 3.พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีมาตรฐานปลอดภัย ราคาเข้าถึงได้ 4.เพิ่มพื้นที่สีเขียวตามมาตรฐาน คือ 9 ตารางเมตร/คน เพราะต้นไม่ช่วยดูดซับมลพิษได้ ดังนั้นภาครัฐควรออกกฎหมายควบคุมอาคารให้ห้างสรรพสินค้ามีพื้นที่สีเขียว และรัฐควรหาพื้นที่เพื่อเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะ

Advertisement

5.ขอความจริงและจัดทำฐานข้อมูลมลพิษ บอกถึงอันตรายและประชาสัมพันธ์วิธีป้องกัน และจัดทำฐานข้อมูลแหล่งปลดปล่อยมลพิษและทิศทางการปลดปล่อยมลพิษ และ6.จัดตั้งหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหาเรามักหาเจ้าภาพในการรับผิดชอบไม่เจอ มักกล่าวอ้างไปยังอีกหน่วยงานซึ่งไม่มีสิทธิ์ก้าวก่าย จึงควรจัดตั้งองค์กรกลางหรือเป็นองค์กรใหม่เป็นผู้ถือกฎหมายและบังคับใช้แทน ซึ่งมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ทันที

ด้านนายพันศักดิ์ กล่าวว่า จะนำข้อเสนอเหล่านี้เพื่อต่อยอดในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองPM2.5 อย่างการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น กรมควบคุมมลพิษได้พยายามผลักดันแนวทางต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การปรับการใช้น้ำมันยูโร 4 – 5 ให้มากขึ้น แต่การแก้ไขกฎหมายบางอย่างก็ต้องให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณา โดยเน้นเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีให้มีความสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image