ลงทุนด้านสุขภาพ แบบ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’

กว่า 16 ปี ที่ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง กำเนิดขึ้นในเมืองไทย แม้โดยหลักการจะให้สิทธิครอบคลุมคนไทยทุกคน แต่ในทางปฏิบัติยังมีคนบางกลุ่มที่ เข้าไม่ถึงŽ สิทธิและบริการด้านสุขภาพ อาทิ คนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชน ประชากรกลุ่มพิเศษ เช่น ผู้ต้องขัง พระสงฆ์ หรือแม้แต่ชนเผ่าที่ยังมีวิถีชีวิตอยู่ในป่า เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ทิศทางของระบบหลักประกันสุขภาพในยุคต่อไป จึงให้น้ำหนักไปที่การดูแลคนกลุ่มนี้มากขึ้น ภายใต้สโลแกน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังŽ

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คำว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังมี 2 ประเด็นสำคัญ คือ

1.ไม่ทิ้งใคร 16 ปีของระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้คนเข้าถึงบริการมากขึ้น แต่ยังมีที่ต้องดูแล เช่น กลุ่มพระสงฆ์ 4-5 แสนรูป กลุ่มผู้ต้องขัง 3-4 แสนคน กลุ่มคนไทยตกสำรวจ ต้องใส่ใจให้มากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

Advertisement

2.ไม่ทิ้งอะไรไว้ ระบบบริการในขณะนี้มุ่งหวังให้คนมีความเข้มแข็งด้านสุขภาพ มีการส่งเสริม รักษา ฟื้นฟูและป้องกัน ปัจจุบันเริ่มมีพื้นที่ใหม่ของการดำเนินงานผ่านกลไกกองทุนสุขภาพตำบล ซึ่ง สปสช.ทำงานร่วมกับท้องถิ่นในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มเฉพาะเหล่านี้มากขึ้น เช่น ทำเรื่องสุขภาพพระสงฆ์ หรือชนเผ่ามานิโดยตรง ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีบทบาทสำคัญในการดูแล ทำงานผ่านกลไกกองทุนตำบลเป็นหลัก เพราะคนในพื้นที่ย่อมสามารถจัดระบบการดูแลได้เหมาะสมกับบริบทมากที่สุด ขณะที่ในเชิงนโยบาย สปสช.เน้นหนักในการดูแลกลุ่มเปราะบาง อาจต้องจัดบริการที่เหมาะสมกับบริบทของเขามากขึ้น เพราะไม่สามารถใช้ระบบบริหารจัดการปกติได้

ด้าน พระ ดร.วิสิทธิ์ ฐิตวิสิทโธ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ธรรมชาติของพระคือ เมื่อบวชแล้วก็ละทิ้งเรื่องทางโลก บางรูปจึงไม่ได้สนใจเอกสารที่เกี่ยวกับทางโลก เช่น บัตรประชาชนสูญหาย หรือหมดอายุแล้วไม่ต่ออายุ เมื่อไม่มีบัตรก็ไม่มีสิทธิ ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มพระตามตะเข็บชายแดน ซึ่งมีทั้งเลขประจำตัวและไม่มีเลขประจำตัว ดังนั้นอย่างแรกที่ต้องทำคือ สร้างความเข้าใจกับพระ และพระต้องเข้าถึงสิทธิก่อน ต้องทำการสำรวจตัวเลขที่ชัดเจนว่าพระที่มีเลขประจำตัวเท่าไร และจะทำให้เข้าถึงสิทธิอย่างไร และกลุ่มที่ไม่มีหมายเลขจะทำอย่างไร

Advertisement

”ในปี 2560 มีการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ พระสงฆ์ดูแลกันเอง มีกลไกสำคัญคือ พระคิลานุปัฏฐาก หรือเรียกง่ายๆ พระอาสาสมัครสาธารณสุขประจำวัด ทำหน้าที่ตรวจคัดกรองเบื้องต้น สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งสามารถขอทุนทำโครงการกับกองทุนสุขภาพตำบล ตั้งกองทุนพระคิลานุปัฏฐากระดับตำบลและอำเภอ ตลอดจนเชื่อมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ และเป็นนักสื่อสารเพื่อสร้างสุขภาวะให้เป็นวัดส่งเสริมสุขภาพ จากนั้นพัฒนาหลักสูตร ทดลองหลักสูตร มีพื้นที่ต้นแบบที่ จ.สุโขทัย ทั้งระดับตำบลและอำเภอ โดยชี้แจงพระสงฆ์ทั้งจังหวัดให้มีความรู้เรื่องนี้ จากนั้นขอพระอาสาสมัครมาเป็นแกนนำในการสร้างพระคิลานุปัฏฐาก เมื่ออบรมเสร็จให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ ทำแผนงานร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมสุขภาพต่างๆ เมื่อมีพื้นที่ต้นแบบแล้วก็ไปขับเคลื่อนที่เขต 1 ต่อ โดยดึงทั้ง 8 จังหวัด มาทำความเข้าใจเรื่องธรรมนูญสุขภาพฯ มีการอบรมพระคิลานุปัฏฐาก 103 รูป เมื่ออบรมเสร็จให้กลับไปทำแผนงานในพื้นที่ และขยายไปทีละจังหวัด”Ž พระ ดร.วิสิทธิ์กล่าวและว่า ล่าสุดมีการอบรมพระคิลานุปัฏฐาก 945 รูป และตั้งเป้าให้ได้ 1,250 รูป ภายในปีนี้ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาพุทธธรรมชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน

ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในส่วนของกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำมีความเสี่ยงจากโรคติดต่อโดยเฉพาะวัณโรค ขณะที่บริการที่จัดสำหรับคนกลุ่มนี้เป็นไปค่อนข้างลำบาก เพราะกรมราชทัณฑ์มีหน่วยบริการเพียง 2 แห่ง จึงต้องพึ่งพาโรงพยาบาลในสังกัด สธ.เป็นหลัก โดยเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ ใช้บริการโรงพยาบาล สธ. 131 แห่ง โรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ 11 แห่ง
และโรงพยาบาลเอกชนอีก 1 แห่ง

“เป็นไปไม่ได้ที่จะให้แพทย์ไปประจำในเรือนจำ การให้บริการจึงทำได้ในลักษณะเข้าไปตรวจเป็นครั้งคราว หรือหากป่วยหนักก็ต้องส่งตัวออกจากเรือนจำไปโรงพยาบาล ซึ่งกรณีที่ต้องเข้าไปตรวจยอมรับว่ายังทำได้ไม่ครบ ทำได้เพียง 50 แห่งจาก 131 แห่ง และหากนำออกไปรักษาข้างนอกต้องมีห้องพิเศษเพื่อป้องกันการหลบหนี มีห้องให้เจ้าหน้าที่เรือนจำนอนเฝ้า ซึ่งยุ่งยาก ปัจจุบันมี 11 จังหวัด ที่ทำได้ และที่ทำคือ ถ้าเรือนจำมีพยาบาล จะให้ดูเบื้องต้นแล้ววิดีโอปรึกษากับแพทย์ที่โรงพยาบาล ถ้ารักษาได้ก็รักษา ถ้ารักษาไม่ได้ค่อยส่งตัว ซึ่งขณะนี้เตรียมทำเอ็มโอยูกับกรมราชทัณฑ์และ สปสช.เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลมากขึ้น”Ž นพ.ศุภกิจกล่าว

ในส่วนของการดำเนินงานเพื่อดูแลกลุ่มประชากรเปราะบางกลุ่มอื่นนั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า แต่ละกลุ่มมีวิธีการแก้ปัญหาต่างกัน ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการ สธ.พยายามขออนุมัติรัฐบาลทำสิ่งที่ระบบปกติไม่เอื้อทำใน 4 พื้นที่ คือ 1.สาธารณสุขทางทะเล เช่น เกาะที่มีประชากรเบาบาง ยากลำบากในการเดินทางไปรับบริการ 2.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 3.พื้นที่ 31 จังหวัดชายแดน ที่รับภาระดูแลคนต่างชาติ และ 4.กลุ่มแรงงานต่างด้าว และกลุ่มที่ไม่ได้สัญชาติไทย

ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 12 สงขลา ยกตัวอย่างการทำงานกับกลุ่มชนเผ่ามานิ ซึ่งอาศัยอยู่ในเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาสันกาลาคีรี ว่า ได้ร่วมกับ รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลักดันการทำบัตรประชาชนให้กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่ามานิ เพื่อให้เข้าถึงสวัสดิการรัฐ

“ปี 2553 กรมการปกครองมีหนังสือแจ้งจังหวัดให้ออกบัตรประชาชนให้ประชากรกลุ่มนี้ แต่ผู้ที่ได้บัตรประชาชนมีน้อยมาก เดือนธันวาคม 2560 จังหวัดมีหนังสือมาอีกครั้ง จึงเริ่มหาข้อมูลประชากรและผลักดันให้ทำบัตรประชาชน ขณะนี้ทำบัตรแล้ว 388 คนŽ” ทพ.วิรัตน์ กล่าวและว่า เมื่อมีบัตรประชาชน จึงหาผู้ที่สื่อสารกับชนเผ่านี้ได้ เพื่อสอบถามความคิดเห็นและความต้องการของชนเผ่า พบว่าวิถีชีวิตของชนเผ่าเป็นวิถีชีวิตที่เคลื่อนที่ไปอาศัยตามจุดต่างๆ ในป่า จึงอยากไปรับการรักษาที่ใดก็ได้โดยไม่จำกัดว่าต้องเข้าหน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น จึงนำข้อเสนอนี้เข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) และเสนอเข้าส่วนกลาง กระทั่งมีการปลดล็อกการเข้าถึงบริการของคนกลุ่มนี้ จากนั้นทำให้ชนเผ่านี้ดูแลสุขภาพตัวเอง โดยใช้กลไกกองทุนสุขภาพตำบล ล่าสุด ชนเผ่ามานิสามารถโทรเรียก 1669 ให้ไปรับเด็กที่ป่วยไปโรงพยาบาลได้ รวมทั้งสามารถทำซีพีอาร์ (CPR) เพื่อกู้ชีวิตเด็กในชนเผ่าได้

ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กลุ่มคนไทยตกสำรวจ/ไม่มีบัตรประชาชน เป็นกลุ่มที่สถานการณ์แย่ที่สุดในกลุ่มคนชายขอบ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าใด ที่ผ่านมามีเครือข่ายองค์กรพัฒนาภาคเอกชนทำงานช่วยเหลืออยู่ แต่ช่วยได้เพียงบางกรณี และวันนี้ยังได้ไม่ถึง 100 กรณี ขณะที่จำนวนคนไทยไร้บัตรเหล่านี้คาดว่ามีประมาณ 1 แสนราย ถือเป็นภารกิจที่หนัก เช่นเดียวกับหน่วยบริการก็ต้องแบกรับภาระการรักษา และหลายแห่งเริ่มปฏิเสธการให้บริการ จึงต้องหาทางลดภาระหน่วยบริการ

”ปัญหาต่อมาที่พบคือ เมื่อเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เจ้าหน้าที่ไม่ให้ความสำคัญ หรือกลัวจะเป็นคนต่างด้าวสวมสิทธิ และแต่ละเขตมีวิธีการทำงานไม่เหมือนกัน จึงเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นคนกลางจัดการปัญหา โดย สปสช.ควรร่วมกับ สธ.เสนอให้ ครม.ตั้งคณะกรรมการระดับชาติดูแลปัญหานี้ เพื่อให้เขาเหล่านี้เข้าถึงสิทธิ เพราะคือคนไทยและเสนอให้ สธ.ทำประมาณการค่าใช้จ่าย เพื่อนำไปจัดตั้งกองทุนสำรองจ่ายในการรักษาพยาบาล ส่วนกระทรวงมหาดไทย (มท.) เรียกร้องให้สำรวจจำนวนคนไทยไร้สิทธิ รวมทั้งกำหนดแนวทางการพิสูจน์สิทธิคนเหล่านี้ให้ชัดเจนŽ” ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว

หากสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จึงจะเรียกได้ว่า ไม่ทิ้งใครอยู่ข้างหลังŽ ได้อย่างแท้จริง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image