เครือข่ายบุคลากร สธ.เรียกร้องความเป็นธรรม ด้านรองปลัดฯ ย้ำช่วยเหลือกรณีเรียกเงินคืนแล้ว

เครือข่ายบุคลากร สธ.เรียกร้องความเป็นธรรม ด้านรองปลัดฯ ย้ำช่วยเหลือกรณีเรียกเงินคืนแล้ว

ตามที่เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขมีการเคลื่อนไหวผ่านสังคมออนไลน์ ด้วยการถ่ายภาพและแชร์ในเฟซบุ๊กเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องการบรรจุตำแหน่งสายงานของตนเอง พร้อมทั้งเรียกร้องในเรื่องของกลุ่มข้าราชการที่ถูกเรียกเงินเดือนส่วนที่เกินคืน เนื่องจากมีการคำนวณผิดว่า ต้องการความชัดเจนถึงสาเหตุของความผิดพลาดนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 เมษายน เครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องการปฏิรูปที่เป็นธรรม ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 เรื่อง การปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความเป็นธรรมต่อทุกวิชาชีพทุกสายงาน โดยระบุว่า เครือข่ายฯมีสมาชิก 22 องค์กร อาทิ สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย  ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) สมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ สหพันธ์แบคออฟฟิศกระทรวงสาธารณสุข ชมรม ว.16 ชายแดนใต้ตอบแทนคุณแผ่นดิน ชมรมพนักงานราชการ กระทรวงสาธารณสุข ชมรมลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ถือว่าเป็นกลุ่ม “มดงานกระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินการตามตัวชี้วัดและนโยบายของกระทรวงฯ และเป็นฟันเฟืองในการให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง แต่จากการที่กระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากรจากจาก 8 วิชาชีพ 20 กว่าสายงาน จึงพบว่ายังมีปัญหาในเรื่องการดูแลสิทธิ ขวัญกำลังใจ ความก้าวหน้า ค่าตอบแทนต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกวิชาชีพ และทุกสายงาน เช่น การเลือกปฏิบัติในการบรรจุข้าราชการ ความไม่เป็นธรรมในการบริหารจัดการตำแหน่งว่าง และความเหลื่อมล้ำในเรื่องเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทน

เครือข่ายฯแถลงอีกว่า เครือข่ายฯจึงขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหา ให้มีความเป็นธรรม สร้างแรงจูงใจในการทำงานของบุคลากรทุกวิชาชีพทุกสายงานในกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้ 1.กรณีการเลือกปฏิบัติในการบรรจุข้าราชการ และความไม่เป็นธรรมในการบริหารจัดการตำแหน่งว่าง ควรมีมาตรการต่างๆ ดังนี้ 1.1 ห้ามมีการยุบเลิกการบรรจุข้าราชการของสายงานสนับสนุนและสายงานรองทุกสายงาน และพิจารณาจัดสรรตำแหน่งว่างที่เหลืออีก 10,830 ตำแหน่ง มาใช้ในการบรรจุ ปรับตำแหน่ง แต่ละสายงาน แต่ละวิชาชีพในสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข อย่างเป็นธรรม 1.2 ห้ามมิให้กระทรวงฯนำตำแหน่งว่างของเจ้าพนักงานเภสัชกรรม เจ้าพนักงานสาธารณสุข นักวิชาการสาธารณสุข นำไปปรับตำแหน่งในตำแหน่งเภสัชกร หรือสายงานอื่นๆ อีกต่อไป 1.3. ควรมีการคืนตำแหน่งว่าง ที่เคยนำไปปรับไปให้สายงานอื่นๆ ปีละหลายร้อยตำแหน่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ให้สายงานเดิม เพื่อนำมาใช้ในกรณีการบรรจุผู้ที่รอบรรจุมานานนับสิบปีในแต่ละสายงาน และ 1.4 ห้ามมีการเลือกปฏิบัติในการบรรจุข้าราชการ ขอให้บรรจุข้าราชการทุกวิชาชีพทุกสายงานอย่างเป็นธรรมทุกๆ ปีในกลุ่มที่เป็นลูกจ้าง พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะคนที่ทำงานมานานเกิน 5-10 ปี  

Advertisement

เครือข่ายฯแถลงอีกว่า 2.ประเด็นปัญหาความเป็นธรรมในเรื่องเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทน ดังนี้ 2.1 กรณีการเรียกเงินเดือนเกินสิทธิคืน ห้ามมิให้หน่วยงานมีการเรียกคืนเงินเดือนเกินสิทธิในระยะเวลาจำกัด และให้กระทรวงสาธารณสุขควรชี้แจงมาตรการที่ได้หารือกับกระทรวงการคลังกรณีการเรียกเงินเดือนเกินสิทธิคืนให้ชัดเจนว่าผลออกมาเป็นอย่างไร พร้อมทั้งสั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามมาตรการดังดังกล่าว และดูแลขวัญกำลังใจบุคลากรที่ต้องคืนเงินที่มาจากการทำงานไม่รอบคอบของผู้เกี่ยวข้องด้วย 2.2 กรณีการเรียกคืนเงินค่าตอบแทน ห้ามมิให้มีการเรียกคืนค่าตอบแทนฉบับ 11 หากมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ กรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจ แล้วตีความการจ่ายค่าตอบแทนไม่เป็นคุณ ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงระเบียบหลักเกณฑ์ของค่าตอบแทนให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้าใจและตีความระเบียบให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของการจ่ายค่าตอบแทนฉบับดังกล่าวด้วย

เครือข่ายฯกล่าวอีกว่า 2.3 กรณีจ้างลูกจ้างในอัตราต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน (เฉลี่ย 4,500-6,000 บาท) ห้ามมิให้หน่วยงานในหน่วยงานสาธารณสุขทุกระดับจ้างลูกจ้างในอัตราต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน 3.กรณีความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 10 ชายแดนใต้ ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขประกาศยกเลิกค่าตอบแทน ฉบับที่ 10 ชายแดนใต้ทันที เนื่องจากมีความซ้ำซ้อน ไม่เป็นธรรม ใช้งบประมาณเงินบำรุงที่ทุกวิชาชีพช่วยกันทำงาน แต่เบิกจ่ายได้แค่ 4 วิชาชีพ แล้วนำมาเพิ่มในเงินเสี่ยงภัยหรือค่าตอบแทนสำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ (สปพ.) ให้ไม่น้อยกว่าข้าราชการอื่นแทน (3,500-5,000 บาท) รวมทั้งควรปรับปรุงระเบียบเพิ่มในค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้ให้ครอบคลุมในกลุ่มลูกจ้างประเภทต่างๆ ด้วย (1,000-2,000 บาท) จะเหมาะสมกว่า

4.กรณีความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 11และ 12  ให้กระทรวงสาธารณสุขยกร่างหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่ 11 และ 12 ขึ้นมาใหม่ ให้ชัดเจน เป็นธรรม อธิบายได้ ไม่ต้องตีความมาก ไม่เหลื่อมล้ำสูงมากอย่างในปัจจุบัน เพราะบางสายงานได้ 0 บาท ในขณะที่บางวิชาชีพ ได้ค่าตอบแทนสูงถึง 60,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ใหม่ที่ยกร่าง ควรพิจารณาให้ครอบคลุมทุกสายงาน (รวม back office) ทุกวิชาชีพ (รวมเวชสถิติ และโสตทัศนศึกษา : เวชสาธิต) ทุกหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข (รวม สสอ. สสจ) นอกจากนี้ หากยกเลิกค่าตอบแทนฉบับที่ 10 และยกร่างหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่ 11 และ 12 ขึ้นมาใหม่แล้ว ควรหันมาปรับเพิ่มค่าตอบแทนในส่วนค่าเวร ค่าหัตถการ ค่า พตส.ต่างๆ ให้ครอบคลุมเหมาะสมแทน เพราะเป็นค่าตอบแทนจากภาระงานจริงๆ ซึ่งอธิบายได้ง่ายกว่าค่าตอบแทนฉบับ 10-11-12 5.กรณีความเหลื่อมล้ำเงินเดือนและอายุราชการ ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข มีการพิจารณาเยียวยากรณีความเหลื่อมล้ำเงินเดือนและอายุราชการของทุกกลุ่มที่ถูกลดเงินเดือน หรืออายุราชการหายให้รอบด้าน และดำเนินการเยียวยาให้เสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณ 2562″เครือข่ายฯแถลง

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image