นวัตกรรม เหง้ามันสำปะหลัง คลีนเทคโนโลยี รักษ์โลก

นวัตกรรมเหง้ามันสำปะหลังž คลีนเทคโนโลยี รักษ์โลก

อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการ   คณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้สนับสนุนธุรกิจ SMEs บริษัท ต้อม คาซาวา จำกัด ที่ได้พัฒนาเตาเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพในการเผาสูง เพื่อใช้ในการแปรสภาพของเหลือทิ้งทางการเกษตรอย่างเหง้ามันสำปะหลังเป็นถ่านชาร์โคล (Activated Charcoal) วัตถุดิบสำหรับการสร้างผลิตภัณฑ์ไร้เคมี (Non-Chemical) กำจัดกลิ่นและสารเคมีตกค้างในครัวเรือนอย่างหลากหลายรูปแบบ

ผศ.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เตาดังกล่าว เป็นเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ให้ความร้อนกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ได้ในเวลาไม่ถึง 30 นาที มีกระบวนการพิเศษที่ทำให้เหง้ามันสำปะหลังกลายเป็นถ่านชาร์โคล (Activated Charcoal) ที่ไม่สลายไปเหมือนเตาเผาทั่วไปในระดับความร้อนที่เท่ากัน

Advertisement

“โดยอุทยานฯ ได้ผลักดันผลงานนวัตกรรมดังกล่าวภายใต้โครงการบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วยการจัดหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมวางแผนการธุรกิจ การตลาด กำหนดเป้าหมาย และแนวทางการดำเนินธุรกิจ พร้อมเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับเครือข่ายภาครัฐและนักลงทุนภาคเอกชนอย่าง บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด (มหาชน) เจ้าของธุรกิจ FN Outlet ที่มีสาขาทั่วประเทศมากกว่า 10 สาขา จนทำให้สินค้าของผู้ประกอบการได้วางจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการตลาด บริษัท ต้อม คาซาวา จำกัด ได้รับการเสนอชื่อและรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สุดยอดนวัตกรรม 7 Innovation Awards 2019ž ประเภทผลงานที่เกิดประโยชน์ด้านสังคม ล่าสุดคว้าแชมป์รางวัลผู้ประกอบการดีเด่น ในฐานะผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี จากสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย”Ž ผศ.ธัญญานุภาพ กล่าว

นส.พลอยฉัตรชนก วิริยาทรพันธุ์ เจ้าของธุรกิจ ต้อม คาซาวา กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรกว่า 6 แสนครัวเรือน ใช้ที่ดินกว่า 8 ล้านไร่ในการปลูกมันสำปะหลัง แต่เหง้ามันสำปะหลังกลับกลายเป็นขยะที่ก่อปัญหาในไร่ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดเชื้อราในดิน เกิดโรคพืช และอาจทำให้พืชกลายพันธุ์ ที่ผ่านมาเกษตรกรจึงแก้ปัญหาด้วยวิธีการเผา ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

Advertisement

”จึงคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดโดยไม่ใช้ไฟฟ้าหรือแก๊สในการแปรรูปเหง้ามันสำปะหลังให้เป็น Activated Charcoal ที่ปราศจากสารเคมีเพื่อเพิ่มมูลค่าจากสินทรัพย์ไร้ราคาจากการเกษตร สร้างรายได้เสริมกลับคืนสู่เกษตรกร โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถช่วยสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกรด้วยการรับซื้อเหง้ามันสำปะหลังได้ 1,518 ครัวเรือน ลดการเผาทำลายเหง้ามันในระบบเปิดได้ถึง 10,627 ตัน ลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้ 21,254 ตันคาร์บอน ด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชาร์โคลจากเหง้ามันสำปะหลังในหลากหลายรูปแบบสำหรับใช้ในระดับครัวเรือน”Ž น.ส.พลอยฉัตรชนกกล่าว

ตัวอย่าง สบู่พลายชล ชาร์โคล ที่มีส่วนผสมของน้ำมันมะพร้าวและขมิ้นชันที่นอกจากจะมีคุณสมบัติในการดูดซับสิ่งสกปรกที่อุดตันตามรูขุมขน ดูดซับสารพิษ ยับยั้งแบคทีเรีย ลดกลิ่นกายที่ไม่พึงประสงค์แล้ว ยังช่วยให้ผิวชุ่มชื้น เนียนนุ่ม ไร้สารเกิดฟอง ผลิตภัณฑ์ผงถ่านชาร์โคล สำหรับดูดซับสารเคมีและแบคทีเรียที่ตกค้างในผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์ถุงถ่านชาร์โคลดูดซับความชื้นและกลิ่นไม่พึงประสงค์ 

ผลิตภัณฑ์ทรายแมว พลายชล เนเจอร์ ชาร์โคล สำหรับคนรักสัตว์ โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยดูดซับกลิ่นที่จับตัวสัตว์ที่มีความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กลุ่มอุตสาหกรรมอย่างเม็ดถ่านฟอกอากาศสำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าในปี 2563 จะสามารถช่วยสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกรได้ถึง 3,000 ครัวเรือน พร้อมช่วยลดการสร้างมลพิษทางอากาศจากการเผาทำลายเหง้ามันในระบบเปิดได้ถึง 21,200 ตัน โดยลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้มากถึง 42,300 ตันคาร์บอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image