อาชีวะทั่ว ปท.ร่วมแข่ง ‘สตาร์ตอัพ’ ที่ปรึกษา สนช.ลั่นเป็นเครื่องมือเปลี่ยนโลก

เมื่อวันที่ 8 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) มีจัดการแข่งขันสตาร์ตอัพ (startup) ระดับประเทศ ประเภทอาชีวศึกษา (Startup Thailand League:R-League) Coaching Camp ครั้งที่ 1 โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) วท. ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ธนาคารออมสิน และบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งการแข่งขันรอบนี้ มีทีมอาชีวศึกษาจากภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร จำนวน 43 ทีม เข้าแข่งขัน

นายสาคร ชนะไพฑูรย์ ที่ปรึกษา สนช.กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานว่า สนช.จัดการแข่งขันเพื่อให้เกิดระบบนิเวศส่งเสริมสตาร์ตอัพขึ้นในสถาบันอาชีวศึกษา และยกระดับบทบาทของสถาบันอาชีวศึกษาในการทำงานร่วมกับภาครัฐ ตลอดจนส่งเสริมความตระหนักและการตื่นตัวในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ตอัพ โดยได้ทำการคัดเลือกจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมด 5 ภูมิภาค 119 โครงงาน จาก 101 วิทยาลัย เพื่อมาแข่งขันสตาร์ตอัพระดับประเทศ ครั้งที่ 1 มีสถาบันอาชีวศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วม 43 โครงงาน จาก 13 วิทยาลัย

Advertisement

“สนช.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักศึกษาจะได้มีความเข้าใจในการประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นที่ถูกต้อง และสามารถนำกลับไปปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ หรือการบริการที่ประดิษฐ์คิดค้นเพื่อต่อยอดสู่การเป็นวิสาหกิจเริ่มต้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงให้กับประเทศต่อไปได้ นักศึกษาจะได้ประสบการณ์ ได้ฝึกฝนการทำธุรกิจ การนำเสนอโครงงาน ที่สำคัญได้มีโอกาสเจอนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น อยากให้ทุกคนมีแรงบันดาลใจในการทำสตาร์ตอัพ เพราะอนาคตของประเทศไทย อนาคตของธุรกิจไทย จะอยู่ที่สตาร์ตอัพ ซึ่งสตาร์ตอัพและเทคโนโลยีจะเปลี่ยนโลก” นายสาคร กล่าวและว่า สำหรับทีมที่ชนะในรอบนี้ จะไปแข่งเวทีระดับประเทศ ในงาน Startup Thailand 2019 ระหว่างวันที่ 23 – 27 กรกฏาคม 2562 ที่ BANGKOK CYBERTECH DISTRICT, TRUE DIGITAL PARK, BTSPUNNAWITHI

ด้านนายชัยมงคล พลาวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สอศ.กล่าวว่า เสน่ห์ของอาชีวะคือการคิดแล้วทำได้จริง และชิ้นงานทำได้จริง การแข่งขันสตาร์ตอัพ มีประโยชน์มากต่อนักเรียนอาชีวะ เพราะจะได้ฝึกฝนวิชาความรู้ที่จะติดตัวเราเป็นอาชีพ การแข่งขันการนำเสนอโครงการแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูงมากในแต่ละปี เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก เชื่อว่าใน 2 ปี ประเทศไทยจะเข้าสู่ระบบปัญญาประดิษฐ์ จะมีเอไอ (AI) หรือหุ่นยนต์มาทำหน้าที่แทนมนุษย์

Advertisement

“ดังนั้น สิ่งที่ชาวอาชีวะจะต้องทำคือ ต้องเก่งกว่าหุ่นยนต์ นักศึกษาจะต้องใฝ่รู้ เวลาไปฝึกงานต้องไปอยู่ในหน่วยงานใหญ่ๆ ต้องคิด ต้องถาม ต้องตาม ต้องจริงจังกับความรู้ที่ได้ ที่สำคัญต้องใช้เวลาให้มีค่ามากที่สุด” นายชัยมงคล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image