10 วิธีรับมือ เมื่อเผชิญเหตุ ‘ไฟไหม้’

จากข้อมูลสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้อาคารพื้นที่กรุงเทพมหานครจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อปี 2560 พบเกิดเหตุเพลิงไหม้ในอาคาร รวมทั้งสิ้นจำนวน 359 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 77 ราย เสียชีวิต 19 ราย ส่วนปี 2561 เกิดเหตุเพลิงไหม้ในอาคาร รวมทั้งสิ้นจำนวน 292 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 93 ราย เสียชีวิต 15 ราย และปี 2562 เกิดเหตุเพลิงไหม้ในอาคาร รวมทั้งสิ้นจำนวน 88 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 77 ราย เสียชีวิต 1 ราย

ล่าสุดเหตุเพลิงไหม้อาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ใจกลางเมืองกรุง เมื่อวันที่ 10 เมษายน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และอีก 20 คน ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็น
เหตุสูญเสียที่ได้รับความสนใจเป็นวงกว้างก่อนถึงช่วงเวลาความสุขหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์

พ.ต.ท.สมเกียรติ นนทแก้ว ผู้อำนวยการ สปภ. เปิดเผยว่า เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น สิ่งสำคัญเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของตนเองคือ ประชาชนควรศึกษาวิธีป้องกันจากเหตุอัคคีภัย ดังนี้ 1.ก่อนเข้าพักอาศัยในอาคารต่างๆ ควรสอบถามความพร้อมของอุปกรณ์ความปลอดภัยจากเหตุไฟไหม้ เช่น เครื่องป้องกันควันไฟ อุปกรณ์ฉีดน้ำอัตโนมัติบนเพดาน รวมถึงอ่านคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัยจากเหตุไฟไหม้ และการหนีไฟ ของสถานที่นั้นๆ

2.ตรวจสอบทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ห้องพักที่สุด รวมถึงตรวจสอบประตูหนีไฟต้องไม่ปิดล็อก หรือสิ่งกีดขวาง โดยให้นับจำนวนประตูห้องทั้งสองทาง (ซ้าย-ขวา) จนถึงทางหนีไฟ ซึ่งจะทำให้ถึงทางหนีไฟฉุกเฉินได้แม้ว่าไฟฟ้าจะดับ หรือปกคลุมไปด้วยควัน

Advertisement

3.เรียนรู้ และฝึกการเดินภายในห้องพักเข้าหาประตู วางกุญแจห้องพักและไฟฉายใกล้กับเตียงนอน หากเกิดไฟไหม้จะได้นำกุญแจห้องและไฟฉายไปด้วย อย่าเสียเวลากับการเก็บสิ่งของ

4.หาตำแหน่งสัญญาณเตือนไฟไหม้ เปิดสัญญาณเตือนไฟไหม้หากหาพบ จากนั้นหนีออกจากอาคาร แล้วโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิง

Advertisement

5.หากได้ยินเสียงสัญญาณไฟไหม้ ให้หนีลงจากอาคารทันที อย่าเสียเวลาตรวจสอบว่าไฟไหม้ที่ใด

6.ถ้าไฟไหม้ห้องพักของท่าน ให้หนีออกมา แล้วปิดประตูห้องทันที จากนั้นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ดูแลอาคาร และโทรศัพท์แจ้งหน่วยดับเพลิงโดยเร็ว

7.ถ้าไฟไม่ได้เกิดที่ห้องพักของท่าน ให้หนีออกจากห้อง โดยวางมือบนประตู หากประตูมีความเย็นอยู่ ค่อยๆ เปิดประตู แล้วหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด

8.หากประตูมีความร้อน อย่าเปิดประตู เพื่อป้องกันตนเองจากเปลวไฟภายนอก แต่ให้รีบโทรศัพท์แจ้งหน่วยดับเพลิงถึงตำแหน่งของท่าน และหาผ้าเช็ดตัวเปียกๆ ปิดช่องประตู หรือทางเข้าของควัน ปิดพัดลม และเครื่องปรับอากาศ แล้วเปิดหน้าต่าง พร้อมส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือที่หน้าต่าง หรือชานอาคาร คอยความช่วยเหลือ

9.คลานให้ต่ำ หากท่านต้องเผชิญหน้ากับควันไฟ เมื่อควันปกคลุม อากาศบริสุทธิ์จะอยู่ด้านต่ำของพื้นห้อง ควรหาถุงพลาสติกตักเอาอากาศบริสุทธิ์ครอบศีรษะ จากนั้นคลานหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉิน พร้อมนำกุญแจห้องไปด้วย หากหมดหนทางหนีจะได้สามารถกลับเข้าห้องพัก และขอความช่วยเหลือทางอื่นต่อไป

และ 10.อย่าใช้ลิฟต์ขณะเกิดไฟไหม้ ให้ใช้บันไดภายในอาคาร เนื่องจากลิฟต์อาจหยุดทำงานที่ชั้นไฟไหม้

ภุชพงศ์ สัญญโชติ

ด้าน นายภุชพงศ์ สัญญโชติ หัวหน้าสถานีดับเพลิงลาดยาว กทม. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า หากประชาชนทั่วไปเกิดพบกลุ่มควันหรือสิ่งต้องสงสัยที่เป็นอันตราย ก่อนอื่นให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที ต่อมาเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นแล้ว โดยปกติจะมีทีมดับเพลิงประจำอาคารและระบบป้องกันอัคคีภัย ทั้งระบบตรวจจับกลุ่มควันด้วยสัญญาณหรือระบบตรวจจับอุณหภูมิก่อนจะแจ้งสัญญาณไปยังห้องควบคุมระบบ หรือระบบตรวจจับควันที่จะแจ้งเตือนผ่านสัญญาณเตือนอัคคีภัย จากนั้นทางอาคารจะประกาศแจ้งเตือนประชาชนหรือสัญญาณเตือน ซึ่งการแจ้งจะใช้โค้ดหรือรหัส เพื่อไม่ให้ผู้คนตื่นตระหนก ป้องกันเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายภายในอาคารและให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยในวันนั้นทางศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ได้ดำเนินการตามแผนดังกล่าว ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามที่มีการจัดอบรมหรือซ้อมอัคคีภัยที่จัดขึ้นทุกปี

นายภุชพงศ์กล่าวว่า เป็นที่น่าสนใจว่าบันไดหนีไฟมักไม่ถูกใช้ในขณะนั้น เนื่องจากผู้คนมักจะจดจำหรือคุ้นชินเส้นทางที่ตนเองเดินเข้า-ออกอาคาร จึงอยากให้ประชาชนหมั่นสังเกตสัญลักษณ์และทางหนีไฟ เช่น ลูกศรสีเขียว เส้นหนีไฟตามพื้น ฯลฯ รวมถึงให้เชื่อมั่นทีมดับเพลิงประจำตัวอาคารหรือพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ที่คอยชี้ทางขณะเกิดเหตุ โดยให้ประชาชนปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพราะเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะได้รับการฝึกอบรมตามแผนควบคุมอาคารเป็นประจำทุกปี และจะเป็นทีมสุดท้ายที่เหลืออยู่ภายในอาคาร
หลังมั่นใจว่าไม่มีผู้ใดติดอยู่ภายในตัวอาคาร ก่อนให้ผู้ประสบเหตุรีบออกจากอาคารให้รวดเร็วที่สุด

ส่วนวิธีป้องกันตัวเองเบื้องต้นนั้น หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในห้องหรือตัวอาคาร ปกติควันจะลอยสูงขึ้นชนกับเพดานก่อนจะแพร่กระจายไปยังทั่วห้อง จากนั้นกลุ่มควันจะสะสมตัวมายังชั้นล่างของห้อง โดยระหว่างนั้นจะมีช่องว่างหรือที่เรียกว่าชั้นความเย็นจะมีอากาศออกซิเจนใช้ในการหายใจได้ โดยหลักการผู้ประสบเหตุต้องทำตัว ก้มหรือคลานให้ต่ำกว่าชั้นกลุ่มควันไฟให้มากที่สุด และพยายามป้องกันให้ตนเองสัมผัสความร้อนให้น้อยที่สุด จากนั้นรีบนำตนเองออกจากเหตุและมุ่งหน้าไปยังบันไดหนีไฟให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันให้เอาผ้าชุบน้ำปิดจมูกเพื่อป้องกันการสำลักควัน

นายภุชพงศ์กล่าวว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้วันนั้นจะเห็นได้ว่าประชาชนจะรีบไปยังยานพาหนะของตนเอง เพื่อนำรถออกจากห้างสรรพสินค้า ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ควรกระทำเช่นดังกล่าว โดยหลักการแล้ว การป้องกันความสูญเสียชีวิตนั้น ต้องคำนึงถึงชีวิตของตนเป็นหลักก่อน หากเกิดเพลิงไหม้หรือเหตุฉุกเฉินควรทิ้งทรัพย์สินทั้งหมดและให้รักษาชีวิตตนเองก่อน

สิ่งสำคัญคือ การเกิดเหตุเพลิงไหม้มักจะเกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์กระจายไปตามอาคาร กรณีที่เกิดเพลิงไหม้อย่างหนักอาจทำให้เครื่องยนต์ดับได้ ผู้ประสบเหตุควรปฏิบัติตามคำปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ โดยการออกนอกตัวอาคารให้รวดเร็วที่สุด

อีกประการคือ การที่ทุกคนต่างพยายามนำรถยนต์ของตนเองออกจากห้างสรรพสินค้าจะส่งผลทำให้การจราจรติดขัดเป็นวงกว้าง อีกทั้งส่งผลกระทบต่อการเข้าปฏิบัติการกู้ภัยของเจ้าหน้าที่และรถดับเพลิง

“ท้ายสุดสิ่งที่อยากฝากว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ ในทุกครั้งมักจะมีบทเรียนสอนไว้เสมอ อย่างกรณีเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จะเห็นได้ว่าประชาชนค่อนข้างแตกตื่น เกิดอาการตกใจ โดยไม่รู้วิธีปฏิบัติตนเพื่อป้องกันตัวเองในเบื้องต้น ซึ่งการปฏิบัติตนเพื่อรักษาชีวิตตนเองนั้น ทำได้ไม่ยาก และอยากให้เชื่อฟังเจ้าหน้าที่กู้ภัยและทีมดับเพลิงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียในชีวิตเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าทรัพย์สินที่ไม่ตายก็หาใหม่ได้ ขณะเดียวกัน ทางศูนย์การค้าได้ปฏิบัติตามแผนป้องกันภัยอย่างเต็มที่แล้ว เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตที่เป็นหนึ่งในทีมดับเพลิงของห้างดังกล่าวด้วย”

นายภุชพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image