เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อ ‘ครอบครัวสุขสันต์’

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

เก็บตกสาระความรู้เพื่อสรรค์สร้างครอบครัวให้เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขจาก การอบรมเชิงปฏิบัติการ ครอบครัวสุขสันต์ ภายใต้รูปแบบโครงการความร่วมมือพัฒนาด้านการอ่านเขียนของเด็ก (Literacy Hand in Hand) และการพัฒนาต้นทุนชีวิตเยาวชนเชิงบวก (Positive Youth Development) จัดโดยมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการอบรมเครือข่ายพ่อแม่ ผู้ปกครอง ตัวแทนชุมชน คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในพื้นที่ดำเนินงานโครงการพัฒนาฯ ของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ที่ปัจจุบันมีอยู่ 76 โครงการใน 42 จังหวัดทั่วประเทศ ในการเป็นผู้เอื้อกระบวนการนำความรู้ไปถ่ายทอดสู่ชุมชนทั่วประเทศต่อไป ทั้งนี้ มีเครือข่ายพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู รวมถึงผู้ดูแลเด็กเข้าร่วมอบรมรวมทั่วประเทศกว่า 238 คน

“45 ปี ที่มูลนิธิศุภนิมิตฯได้ดำเนินงานในประเทศไทย เรามีความเชื่อมั่นในพลังของครอบครัวและความรักของพ่อแม่ทุกคนที่มีต่อลูก เราตระหนักดีว่าพ่อแม่และผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเด็ก การเสริมสร้างศักยภาพพ่อแม่ผู้ปกครองในการเลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสมตามช่วงวัยบนพื้นฐานครอบครัวที่มีความสุข จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และจะส่งผลสู่การเรียนรู้และพัฒนาการที่เหมาะสมในทุกๆ การเติบโตของเด็กสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ การอบรมครอบครัวสุขสันต์ยังมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและครอบครัว ซึ่งเมื่อรวมกันเข้าก็คือปัญหาของสังคมไทยด้วย” นายสราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตฯ เล่าวัตถุประสงค์ของการจัดอบรม

สราวุธ ราชศรีเมือง

แม้จะเป็นการอบรม แต่ชุดความรู้ไม่ได้เกิดจากการบรรยายโดยวิทยากร ด้วยกระบวนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ที่ออกแบบอย่างเป็นขั้นเป็นตอนผ่านเนื้อหาหลัก 4 เรื่อง ได้แก่ ย้อนอดีต ยอมรับปัจจุบัน มองภาพอนาคต และก้าวตามฝัน ผู้เข้าอบรมทุกคนจะถูกตั้งคำถามและท้าชวนให้ทบทวนการให้ความหมายเดิมเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกในครอบครัว นำวิธีการของทุกคนมาจัดหมวดหมู่ ตรวจสอบเหตุผล ความเชื่อ คุณค่าและความหมายในการตัดสินใจเลี้ยงดูลูกด้วยวิธีการนั้นๆ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งที่ดี และที่ตรงกันข้าม สุดท้ายจะเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนร่วมกันสร้างความหมายใหม่ของคำว่าครอบครัวสุขสันต์

ย้อนอดีต-ยอมรับปัจจุบัน ทุกครอบครัวย่อมมีทั้งประสบการณ์ที่มีสุข และที่ไม่น่าจดจำ อดีตที่เป็นบาดแผล เราต้องเยียวยารักษา เปลี่ยนมุมคิด ค้นให้พบแง่งามของบาดแผลนั้น ให้อภัยและขอบคุณทุกประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามา ที่สำคัญกว่าการเยียวยารักษาคือเราจะต้องไม่นำอดีตที่เป็นบาดแผลนั้นมาผลิตซ้ำกับครอบครัว กับการเลี้ยงดูลูกๆ ของเราในปัจจุบันด้วย

Advertisement

มองภาพอนาคต เรียนรู้และทบทวนว่ารากฐานของครอบครัวคืออะไร อะไรที่อาจทำให้รากฐานของครอบครัวอ่อนแอ หรือเกิดความเข้มแข็ง เราจะต้องเตรียมความพร้อมหรือลงมือทำอะไรบ้าง เพื่อให้รากฐานของครอบครัวแข็งแรง สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้พ่อแม่ทุกคนจะต้องเข้าใจก่อนว่าความสุขของพ่อแม่อาจจะไม่ใช่ความสุขของลูก และความสุขของลูกก็อาจจะเป็นความไม่สบายใจของพ่อแม่ได้เช่นกัน ความเข้าใจที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การให้ความหมายใหม่ของคำว่าครอบครัวสุขสันต์ของแต่ละคนได้

ก้าวตามฝัน คือกระบวนการสุดท้าย เป็นการวางแผนสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวบนพื้นฐานความรักความเข้าใจ เด็กต้องการเพียงแค่ความรักและความเข้าใจจากพ่อแม่และคนในครอบครัว แต่เด็กจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรถ้าพ่อและแม่ยังคงปฏิบัติต่อลูกด้วยวิธีการเดิม พ่อแม่ต้องยอมรับที่จะเปลี่ยนแปลง ให้คำมั่น และลงมือปฏิบัติ ทั้งนี้ ต้องเหมาะสมกับอายุและพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัยด้วย

Advertisement

“เราอาจจะคุ้นชินกับการเลี้ยงดูที่พ่อแม่คือผู้ออกคำสั่ง ครูมีอำนาจเหนือศิษย์ ใช้วิธีการตี ลงโทษ เพื่อทำให้ลูกหรือเด็กเกิดความกลัวและจดจำไม่ทำสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูเห็นว่าไม่เหมาะสมอีก อันนี้เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่นำไปสู่การกระทำรุนแรงต่อเด็ก เราต้องปรับเปลี่ยนบทบาทในครอบครัวจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ สู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ทุกคนในครอบครัวต่างก็สำคัญและเท่าเทียมกัน” วัลยา พาณิชพัฒนา ผู้จัดการแผนกความเชื่อกับการพัฒนา มูลนิธิศุภนิมิตฯ อธิบายกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ครอบครัวสุขสันต์

ภาษารัก เคล็ดลับสู่ ‘ครอบครัวสุขสันต์’ แม้ว่าตลอดการอบรมจะเน้นกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้ค้นพบความหมายของการสร้างครอบครัวสุขสันต์ในแบบของตัวเอง แต่ในทุกเนื้อหาจะมีเคล็ดลับสู่ครอบครัวสุขสันต์สอดแทรกอยู่ ซึ่งก็คือ “ภาษารัก” ที่ ดร.แกรี แชปแมน (Dr Gary D. Chapman) นักวิจัยด้านชีวิตคู่และครอบครัว ได้เขียนไว้ในหนังสือ 5 Love Language ว่า “มนุษย์แสดงความรักต่อกันผ่านทางภาษารัก 5 ภาษาด้วยกัน คือ ถ้อยคำที่เสริมสร้าง (กำลังใจ ความรัก ความห่วงใย) ถ้อยคำที่ไม่รักษาน้ำใจสามารถทำให้หัวใจของผู้ฟังเจ็บปวด และจดจำไม่ลืมเลือน เวลาแห่งคุณภาพ คือการอยู่ข้างๆ ใช้เวลาด้วยกัน รับฟัง ไม่ละเลย หยุดกิจกรรมอื่นๆ และให้ความสนใจต่อคนที่อยู่เท่านั้น ของขวัญ ทุกการมอบของขวัญคือการมอบความใส่ใจให้กับผู้รับ การปรนนิบัติ อะไรก็ตามที่ทำเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ รวมถึงการไม่เพิกเฉยเมื่อเกิดปัญหา และการสัมผัส เป็นอีกหนึ่งการแสดงออกถึงความห่วงใย ใส่ใจ และความรัก แต่สัมผัสที่รุนแรงก็เป็นภาษาที่สามารถทำลายความสัมพันธ์ได้เช่นกัน”

ครอบครัวสุขสันต์ ไม่มีสูตรสำเร็จที่แน่นอนตายตัว เพราะทุกครอบครัวต่างมีปัจจัยเฉพาะ ขอเพียงพ่อแม่ ผู้ปกครอง เข้าใจและยอมรับที่จะปรับเปลี่ยนการปฏิบัติตนในการเลี้ยงดูลูก สร้างความสัมพันธ์ให้ทุกคนในครอบครัวมีความสำคัญและเท่าเทียม มองให้เห็นสิ่งที่ดีของทุกคน ให้อภัยและนำข้อผิดพลาดมาปรับปรุงแก้ไข

ที่สำคัญครอบครัวสุขสันต์จะเกิดขึ้นได้อย่าลืมแสดงออกถึงภาษารักให้สมาชิกในครอบครัวได้รับรู้ เท่านี้ก็จะเกิดเป็น “ครอบครัวสุขสันต์” ได้แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image