สธ.แถลงห้าม ‘รถพยาบาล’ ขับเร็ว 80กม./ชม. ไม่เกี่ยวกู้ภัย-ไม่รวมเคสวิกฤตฉุกเฉิน

จากกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาตรการจำกัดความเร็วของ “รถพยาบาล” ไม่เกิน 80 กม./ชม. หรือไม่เกินที่กฎหมายกำหนด มีผู้โดยสารรวมพนักงานขับไม่เกิน 7 คน ทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัย และห้ามทำหัตถการขณะรถเคลื่อนที่ ทุกคันต้องติดอุปกรณ์ GPS และกล้องวงจรปิด พร้อมห้ามขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดงทุกกรณี ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะข้อกังวลเรื่องส่งผู้ป่วยล่าช้า ทำให้ไม่ทันเวลาทองในการรักษาบางโรค

เมื่อวันที่ 19 เมษายน  ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข   แถลงข่าวถึงเรื่องดังกล่าว ว่า การรับส่งผู้ป่วยแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ 1.เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินต่างๆ และโทร.แจ้งผ่านระบบ 1669 ก็จะมีรถฉุกเฉิน ซึ่งมีทั้งของมูลนิธิ ท้องถิ่น อบต. เทศบาล และรถในเครือข่ายของ สธ.ที่ออกไปรับ ซึ่งยึดหลักใครใกล้ให้ไปก่อน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นท้องถิ่นและมูลนิธิ และ 2.รถพยาบาลที่ใช้ส่งต่อผู้ป่วยข้ามโรงพยาบาล เช่น จาก รพ.ขนาดเล็กไป รพ.ขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูงกว่า ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการส่งข้ามอำเภอหรือข้ามจังหวัด ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางไกลหลายชั่วโมง ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมาดังกล่าวใช้เฉพาะรถพยาบาลในสังกัด สธ.เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงมูลนิธิหรือท้องถิ่น ซึ่งเรื่องมาตรฐานการดูแลรถฉุกเฉินเหล่านี้จะอยู่ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า จากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2559-2562 พบว่า เกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาลจำนวน 110 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 318 ราย แบ่งเป็น พยาบาลและบุคลากรในระบบ 129 ราย เสียชีวิต 4 ราย พิการ 2 ราย  เป็นผู้ป่วยบนรถ บาดเจ็บ 58 ราย เสียชีวิต 3 ราย และเป็นคู่กรณี เสียชีวิต 14 ราย ส่วนใหญ่เกิดขณะส่งต่อผู้ป่วยระหว่าง รพ.ถึงร้อยละ 80 ถือเป็นความสูญเสียอย่างมาก จากการวิเคราะห์ คือ 1.ขับรถเร็ว อย่างกรณีส่งต่อผู้ป่วยจากปราจีนบุรีไปอุบลราชธานี และเกิดอุบัติเหตุที่ศรีสะเกษ จากการตรวจ GPS ดูความเร็วล่าสุดก่อนเกิดเหตุสูงถึง 130 กม./ชม. หลายครั้งที่เกิดเหตุมาจากการผ่าไฟแดง เช่น อุบัติเหตุที่ จ.ระยอง และ 2.เข็มขัดนิรภัย ซึ่งมีแค่จุดที่คนขับนั่งเพียงจุดเดียว แต่ตรง 2 แถวภายในรถไม่มีเข็มขัดนิรภัยเลย ซึ่งนอกจากบุคลากรแล้ว ยังมีคนไข้และญาติไปด้วย รวมแล้วประมาณ 7 คน

Advertisement

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้จึงออกมาตรการขับรถไม่เกิน 80 กม./ชม. และให้มีเข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่ง ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยลดการบาดเจ็บ และไม่ให้หลุดออกจากที่นั่งเมื่อเกิดเหตุ และเมื่อช่วยเหลือผู้ป่วยภายในรถ เช่น ต่อสายน้ำเกลือ ควรจะต้องจอดรถในที่ปลอดภัยแล้วจึงดำเนินการ เพราะหากลุกมาดำเนินการขณะรถยังวิ่งอยู่ อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ซึ่งมองว่าป้องกันไว้จะดีกว่า นอกจากนี้่ เรายังออกมาตรการเยียวยา คือ ประสานงานบริษัทประกัน ในการทำประกันภัยชั้น 1 ซึ่งช่วยลดเบี้ยประกันจาก 3.7-3.8 หมื่นบาท ลงมาเหลือประมาณ 2.7-2.8 หมื่นบาท แต่ความคุ้มครองเพิ่มขึ้นจาก 5 คน เป็น 7 คน และจากที่จ่ายคนละ 1 ล้านบาทก็เพิ่มเป็น 2 ล้านบาท จึงขอความร่วมมือให้มีไม่เกิน 7 คนภายในรถพยาบาล

เมื่อถามถึงกรณีต้องช่วยเหลือผู้ป่วยระหว่างส่งต่อบนรถ และข้อกังวลเรื่องเวลาที่จะต้องไปถึง รพ.ให้ทันกาล  นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า หากเป็นกรณีการส่งต่อข้าม รพ.นั้น รพ.ต้นทางจะมีการประเมินสภาพของผู้ป่วย ว่าตลอดกาเรดินทาง 4-5 ชั่วโมง ผู้ป่วยต้องมีเสถียรภาพระดับหนึ่งที่จะไม่เกิดวิกฤตฉุกเฉินถึงชีวิตระหว่างทาง แต่หากจำเป็นต้องช่วยเหลือหรือทำหัตถการก็ควรจอดรถทำในที่ปลอดภัยก่อน ส่วนการไปรับผู้ป่วยในที่เกิดเหตุ จะมีการแบ่งระดับรถที่ไปรับตามระดับความรุนแรงของผู้ป่วย

Advertisement

นพ.วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) กล่าวว่า การไปช่วยเหลือผู้ป่วยในที่เกิดเหตุ จะมีศูนย์สั่งการโดยพิจารณาว่า เหตุที่เกิดขึ้นต้องใช้รถฉุกเฉินระดับใดไปรับตัวผู้ป่วย ซึ่งมี 3 ระดับ คือ รถฉุกเฉินขั้นสูง (ALS) ที่มีแพทย์ พยาบาล ประจำและอุปกรณ์พร้อม  รถฉุกเฉินขั้นพื้นฐาน (BLS) มีเจ้าหน้าที่ที่รู้เรื่องการกู้ชีพ และรถกระบะ ที่มูลนิธิต่างๆ ใช้ซึ่งจะมีการควบคุมเวลาว่าจะต้องไปให้ถึงที่เกิดเหตุใน 8 นาที ทั้งนี้ กรณีที่เป็นรถขั้นสูงและขั้นพื้นฐาน ขอยืนยันกับประชาชนว่า ไม่จำเป็นต้องใช้ความเร็วในการขับรถเพื่อรีบกลับมายังโรงพยาบาล เพราะมีการทำห้องฉุกเฉินไปกับรถ และมีการช่วยเหลือตั้งแต่ไปถึงที่เกิดเหตุ ดังนั้น เมื่อมีการดูแลตั้งแต่ที่เกิดเหตุแล้ว การขับรถเร็วนั้นไม่จำเป็น ซึ่งการขับเกิน 80 กม./ชม.และฝ่าไฟแดง ล้วนเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น การรีบเพื่อไปให้ถึงเร็วขึ้น 5-10 นาที ไม่มีผลต่อชีวิตของคนไข้ ถ้ามีการดูแลเหมาะสมตั้งแต่แรกแล้ว

เมื่อถามว่า การออกไปรับผู้ป่วยหรือส่งต่อระหว่าง รพ.ควรมีการประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยจัดจราจรเพื่ออำนวยความสะดวก และลดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุหรือไม่  นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า จริงๆ ก็มีการประสานกันมาตลอด โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. อย่าง รพ.ราชวิถี ที่เมือ่ก่อนเข้าถึง รพ.ยาก ก็มีการประสานตำรวจจราจรในการอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นความร่วมมือของในแต่ละพื้นที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image