“หมอจุฬาฯ” แนะใช้บัดดี้โมเดลกัญชาทางการแพทย์ แก้ปัญหาการใช้กัญชาในผู้ป่วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 62 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ในดฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับเรื่อง “บัดดี้โมเดลกัญชาทางการแพทย์” โดยระบุว่า
1.บัดดี้หมายถึงอะไร ?
หมายถึงผู้ป่วยและครอบครัว แพทย์ เภสัชกรและผู้มีประสบการณ์ในการใช้ในชมรมใต้ดิน

2.ทำไมต้องมีบัดดี้?
ข้อจำกัดในการให้กัญชา คือแพทย์แผนปัจจุบันไม่เคยใช้ ไม่กล้าใช้ และแม้แต่ได้รับการอบรมสองวันแล้วก็ตาม และแม้แต่มีคำแนะนำว่าควรจะเริ่มต้นใช้อะไร อย่างไร เท่าไหร่และขนาดที่ไม่ควรจะต้องใช้เกิน รวมกระทั่งถึงผลข้างเคียงและปฏิกิริยาระหว่างกัญชากับยาปัจจุบันก็ตามยังคงต้องยอมรับว่ายังมีความแยบยลของการใช้มากหลาย ที่ต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์

3.จะเริ่มต้นโครงการบัดดี้ได้อย่างไร?
การเริ่มอบรมแพทย์แผนปัจจุบันที่จะมาจากจังหวัดหรือเขตต่างๆทั่วประเทศต้องมีประชาชนในชมรมใต้ดินที่มีประสบการณ์เข้าอบรมด้วยและจะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
ชมรมใต้ดินจะได้ทราบถึงข้อจำกัดและประโยชน์ที่จะได้รับ ถ้ามีการควบรวมการใช้ของยาปัจจุบันกับกัญชาเข้าด้วยกัน
แพทย์แผนปัจจุบันสามารถบอกข้อควรระวังในการใช้กัญชากับผู้ป่วยในภาวะต่างๆได้

4.ใครจะเป็นผู้สั่งจ่ายยากัญชากับผู้ป่วย?
ตามกฎหมายจะเป็นแพทย์แผนปัจจุบันแต่วิธีการกระบวนการและการติดตามควรจะกระทำร่วมกันระหว่างคู่บัดดี้

Advertisement

5.ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นและซับซ้อนจะมีวิธีทางแก้อย่างไร?
โรคหรือภาวะที่เกิดขึ้นและจะนำกัญชามาใช้นั้น หลายโรคมีความซับซ้อนมาก เช่นโรคสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน และผู้ป่วยหลายรายมีอาการทางจิตประสาทอยู่แล้วหรือมีอาการในภายหลังซึ่งเกิดจากผลข้างเคียงของยาปัจจุบัน
ในกรณีนี้ต้องมีบัดดี้ระดับอาวุโสขึ้นทั้ง 2 ด้านในการให้คำปรึกษาทางด้านตัวโรค
ตัวอย่างล่าสุดคือมีผู้ป่วยสมองเสื่อมได้รับกัญชาและมีอาการสดชื่นขึ้นจากที่นอนสามวัน ตื่นสี่วันกลายเป็นสามารถตื่นขึ้นและกระชับกระเฉงได้ และนอนตามปกติ ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าการที่นอนมากในขณะแรกนั้นเนื่องจากในสมองมีขยะมาก การนอนจะเป็นการช่วยระบายขยะออกจากสมอง
ในคนไข้รายนั้น เมื่อเริ่มใช้กัญชาน่าจะเป็นที่การระบายขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่หลังจากที่ผู้ป่วยกระฉับกระเฉงขึ้นอาการของโรคจะแสดงออกได้ชัดเจนขึ้นคือเรื่องของความจำจะมีการถามซ้ำถามซาก และเกิดความโกลาหลในครอบครัว
ดังนั้นต้องเข้าใจ การถามซ้ำซากเป็นลักษณะประจำตัวและครอบครัวต้องเรียนรู้ที่จะรับมือโดยใช้พลังงานน้อยที่สุดอาจไม่จำเป็นต้องอธิบายมากเพราะไม่นานก็ลืมแล้ว ตอบแต่เบี่ยงเบนประเด็นจุดสนใจ ต่างๆ
ในภาวะดังกล่าวต้องไม่ตีความว่าเป็นภาวะฟุ้งซ่านและนำไปสู่การใช้ยาโรคจิตหรือการเพิ่มยากัญชาชนิดต่างๆเพิ่มเข้าไปอีก

6.กระบวนการทำงานระหว่างบัดดี้ในระนาบเดียวกันกับบัดดี้อาวุโสจะต้องการอะไรบ้าง?
สิ่งที่ต้องการก็คือระบบสื่อสารซึ่งกันและกัน ในพื้นที่ ในโรงพยาบาลหรือแม้แต่ในเขตเดียวกัน ซึ่งสามารถใช้บัดดี้อาวุโสในเรื่องของความซับซ้อนของตัวโรค จากโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงเรียนแพทย์ช่วยด้วย
ดังนั้นกระบวนการทำงานดังกล่าวจะเป็นต้นแบบของเทเลเมดิซีน ซึ่งสามารถใช้ได้ในระบบการดูแลสุขภาพทุกชนิด

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image