อย.เผยรายชื่อหน่วยงาน-มหา’ลัยได้อนุมัติปลูก/ผลิตกัญชาทางการแพทย์ ด้าน อภ.พร้อมหนุนนักวิจัย

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

เมื่อวันที่ 25 เมษายน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการขออนุญาตปลูก ผลิตกัญชาทางการแพทย์ตามกฎหมายกำหนด ว่า ขณะนี้มีหน่วยงานรัฐที่ขอมา คือ 1.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ขอนุญาตปลูก และผลิตน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ 2.กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กำลังดำเนินการขออนุญาต และ 3.มหาวิทยาลัยรังสิต อยู่ระหว่างดำเนินการขออนุญาต นอกจากนี้ ยังมีหลายแห่งสนใจด้วย เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นการขอของกลางไปทำการวิจัย ล่าสุดทราบว่าจะขออนุญาตปลูกอยู่เช่นกัน

“ขณะนี้ อย.กำลังสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้สามารถนำกัญชาที่มีอยู่มาขออนุญาต และใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ได้ภายใต้กฎหมาย เช่น กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก องค์การเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยต่างๆ โรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และสภาเกษตรกรแห่งประเทศไทย ซึ่งในวันที่ 26 เมษายนนี้ อย.จะจัดงานในรูปแบบความร่วมมือดังกล่าวขึ้นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยจะทำการแมทชิ่ง หรือจับคู่ความร่วมมือกัน เรียกว่า เป็นการจับกลุ่มคนจิตอาสาที่มีองค์ความรู้ในการใช้กัญชาทางการแพทย์ กลุ่มผู้ป่วยที่ได้ใช้เข้ามาสู่กระบวนการวิจัย เพื่อให้ได้ทั้งองค์ความรู้ และการดูแลรักษาต่อเนื่อง” นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์

ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงกรณี อย.เตรียมส่งข้อมูลตัวเลขผู้แจ้งนิรโทษครอบครองกัญชาหลังครบกำหนดนิรโทษวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ เพื่อให้ อภ.ผลิตน้ำมันกัญชาเร่งด่วน ว่า อภ.พร้อมสนับสนุนได้ในบางส่วน เนื่องจากมีวัตถุดิบในมือประมาณหนึ่งที่จะตอบโจทย์ประชาชนที่จำเป็นต้องใช้ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องเกิดความร่วมมือกันของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา อภ.กล่าวว่า ขณะนี้ อภ.ยังให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยนเรศวร ในการวิจัยแยกสารและจัดทำสารมาตรฐาน เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์และคำนวณเพื่อให้ทราบปริมาณสารสำคัญของผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง ทั้งวัตถุดิบกัญชาแห้ง สารสกัดกัญชา ผลิตภัณฑ์จากกัญชา เป็นต้น ซึ่งการวิจัยครั้งนี้เป็นการทำคู่ขนาน เพราะปัจจุบัน อภ.มีสารมาตรฐานจากการนำเข้า แต่หากงานวิจัยนี้สำเร็จจะทำให้ไม่ต้องนำเข้า และใช้ผลงานวิจัยจากนักวิจัยไทยของเราเอง เป็นการสนับสนุนงานวิจัยของไทย ซึ่งตรงนี้เป็นการทำงานในลักษณะเครือข่ายร่วมกัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image