สช.เปิดเวทีถก ‘วาระสุดท้ายชีวิต’ จี้แก้แบบฟอร์มให้คนไข้-ญาติรับการรักษาตามธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 25 เมษายน ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส กรรมการที่ปรึกษาด้านสิทธิสุขภาพ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวตอนหนึ่งบนเวที “สช.เจาะประเด็น: เร่งตาย vs เลือกตาย สิทธิในวาระสุดท้าย ใครกำหนด?” ว่าการเลือกสิทธิที่จะตายเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ซึ่งในโลกนี้มี 2 แบบ ในต่างประเทศ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศที่อนุญาตให้ทำการุณยฆาต หรือการช่วยผู้ป่วยฆ่าตัวตาย หรือพูดอีกแง่หนึ่งคือ การเร่งการตาย ส่วนของไทยจะแตกต่าง โดยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 ระบุว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต คน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ (Living will) เป็นการให้สิทธิกับผู้ป่วยในการเลือกที่จะตายในวาระสุดท้ายของชีวิตให้เป็นไปตามธรรมชาติ ได้รับการรักษาแบบประคับประคอง ไม่ใช่การทอดทิ้งไม่รักษาแต่อย่างใด

ศ.แสวงกล่าวว่า มาตรา 12 ที่ให้สิทธิการตายตามธรรมชาติ ต้องมีการเขียนความต้องการเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งไม่ได้มีแบบแผน

“สามารถเขียนลงไปได้เลยว่าในวาระสุดท้ายของชีวิตต้องการให้ทำอะไรกับร่างกายบ้าง หรือไม่ทำอะไรบ้าง หรือเขียนกำหนดได้ถึงขั้นว่าไม่อยากให้ใครมาเยี่ยม หรืออยากจะกินอะไรก่อนวาระสุดท้ายมาถึงจริงๆ และย้ำว่าการเขียนหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว ควรเขียนวันที่กำกับเอาไปไว้ทุกครั้ง ทั้งนี้ หากไม่ทราบว่าจะต้องเขียนอย่างไรก็มีตัวอย่างให้ โดยสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของ สช. ทั้งนี้ ควรมีพยานเซ็นกำกับไว้ด้วย และเมื่อเขียนเสร็จแล้วแนะนำให้ทำสำเนา เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง จากนั้นนำตัวสำเนาแนบไปกับเวชระเบียน ส่วนเอกสารตัวจริงให้เก็บไว้กับตัว จริงๆ อยากให้เก็บเป็นฐานข้อมูลในบัตรประชาชนด้วยเลย” ศ.แสวงกล่าวและว่า ปัญหาคือ กฎหมายฉบับนี้มีใช้มานานถึง 11 ปี แต่คนไม่ค่อยรู้ เพราะเป็นเรื่องใหม่ และก่อนหน้านี้มีการคัดค้าน แต่เมื่อปี 2558 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่ากฎหมายดังกล่าวถูกต้อง เพราะทำในวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่ใช่การทอดทิ้งผู้ป่วยแต่อย่างใด เพราะยังดูแลแบบประคับประคอง

ศ.แสวงกล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงเรียนแพทย์ต่างๆ เริ่มมาทำศูนย์ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองกันมากขึ้นแล้ว ทั้งศิริราช จุฬาลงกรณ์ รามาธิบดี รวมถึง รพ.ธรรมศาสตร์ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็เริ่มทำได้ 2-3 ปี แต่ที่อยากให้แก้ไขคือ เปลี่ยนแบบฟอร์มให้ญาติผู้ป่วยเซ็นหนังสือปฏิเสธการรักษา ซึ่งทำให้เขากลัว มาเป็นรูปแบบว่าได้มีการคุยให้ผู้ป่วยรับการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ และอยากเรียกร้องให้สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ควรกำหนดเรื่องนี้เป็นหนึ่งในเกณฑ์การประเมินคุณภาพสถานพยาบาล (HA) และเรียกร้องให้พรรคการเมืองหันมาสนใจทำเรื่องนี้ให้มากขึ้น และควรบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นเช่นกัน

Advertisement

ด้าน ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการพูดคุยและกับข้อมูลจากผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุพบว่าร้อยละ 93 ไม่กลัวความตาย แต่กลัวความทรมานมากกว่า การมีกฎหมายดังกล่าวก็จะช่วยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบได้ แต่ปัญหาคือ คำว่าวาระสุดท้ายของชีวิตนั้น หากเป็นบุคลากรจะเข้าใจกันง่าย แต่ประชาชนอาจจะยังไม่เข้าใจ ดังนั้น แพทย์จะตัดสินใจจากโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่คือ เป็นโรคร้ายแรงที่รักษาไม่หายแล้ว โอกาสตายมาก เช่น มะเร็ง

“หากเป็นเช่นนี้ทั้งผู้ป่วย ญาติทุกคน และแพทย์ต้องมาคุยให้พร้อมกันเพื่อวางแผนกันต่อ เพราะที่ผ่านมา เราพบว่าญาติ คือ กลุ่มที่มีปัญหาไม่ยอมทำตามความประสงค์ของผู้ป่วย โดยเฉพาะญาติที่อยู่ทางไกลมักจะแสดงความกตัญญูเฉียบพลัน ส่วนกรณีผู้ป่วยที่นอนไม่รู้สึกตัวแล้วและไม่ได้ทำเอกสารตามมาตรา 12 ไว้การตัดสินใจรักษาแบบประคับประคองจะอยู่ที่ญาติ” ศ.นพ.อิศรางค์กล่าว

ด้าน ดีเจพี่อ้อย-นภาพร ไตรวิทย์อารีกุล นักจัดรายการชื่อดัง กล่าวว่า จากที่เคยไปอบรมเกี่ยวกับเรื่องนี้มีการตอบแบบสอบถาม 2 ส่วน ส่วนแรกในฐานะที่เราเป็นเจ้าของชีวิตเอง เมื่อเกิดปัญหาด้านสุขภาพก็เลือกที่จะจากไปเลยดีกว่า แต่การตอบคำถามในกรณีที่เราเป็นญาติกลับมีความต้องการที่จะยื้อชีวิตญาติเราเอาไว้อีกนิด นับเป็นการเห็นแก่ตัวอยู่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ในวาระสุดท้ายแทนที่จะอยู่ท่ามกลางการรักษาของแพทย์ พยาบาลที่เราไม่รู้จักใครเลย จะดีกว่าหรือไม่หากเราได้รับการดูแลแบบประคับประคองแทน และตายในอ้อมกอดของคนที่เรารัก อยากกินอะไรก็กิน ส่วนตัวญาติที่ได้ดูแลกันในช่วงสุดท้ายของชีวิตนั้น ก็จะมีความสุขไปด้วยที่อย่างน้อยเขาก็จากไปด้วยความสุข ส่วนตัวได้ทำเอกสารแสดงเจตจำนงเอาไว้แล้ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image